เอเอฟพี - ศาลอียิปต์ตัดสินจำคุกผู้สื่อข่าว 3 คนของสถานีโทรทัศน์ “อัลญะซีเราะห์” (Al-Jaseera) ในวันนี้ (23 มิ.ย.) ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึง ปีเตอร์ เกรสเต นักข่าวชาวออสเตรเลีย โดยทั้งสามถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ถึง 10 ปี ภายหลังถูกกล่าวหาว่า ให้ความช่วยเหลือกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งแดนไอยคุปต์ขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย
เกรสเต และผู้สื่อข่าวลูกครึ่งอียิปต์ - แคนาดาชื่อ โมฮาเหม็ด ฟาเดล ฟะห์มี ถูกตัดสินจำคุกคนละ 7 ปี ขณะที่บาเฮอร์ โมฮาเหม็ด ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการผลิตถูกตัดสินจำคุกในความผิด 2 กรณี ทำให้เขาได้รับโทษ 7 ปี และอีก 3 ปี
ทั้ง 3 อยู่ในกลุ่มจำเลย 20 คนในการพิจารณาคดีซึ่งจุดประกายให้นานาชาติแค้นเคือง ขณะกำลังเกิดกระแสหวั่นวิตกว่า สื่อมวลชนในอียิปต์กำลังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จำเลยอีก 11 คนที่ไม่ได้มาขึ้นศาลเพื่อรับฟังการพิจารณาคดีถูกตัดสินจำคุกคนละ 10 ปี โดยในจำนวนนี้มี 3 คนเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
ส่วนจำเลย 4 ใน 6 คนที่เหลือ ซึ่งถูกคุมขังร่วมกับผู้สื่อข่าวอัลญะซีเราะห์ 3 คน ถูกตัดสินจำคุกคนละ 7 ปี ขณะที่ศาลประกาศให้อีก 2 คนพ้นผิด
นับตั้งแต่กองทัพอียิปต์ทำรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2013 สถานีโทรทัศน์ของกาตาร์เจ้านี้ก็มุ่งเสนอข่าวการใช้มาตรการรุนแรงกวาดล้างจับกุมบรรดาผู้สนับสนุนมอร์ซีในอียิปต์ จนทำให้เหล่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตกเป็นเป้าเกลียดชัง
เหล่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของอียิปต์พิจารณาว่า อัลญะซีเราะห์คือกระบอกเสียงของกาตาร์ และกล่าวหาว่า ชาติอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียแห่งนี้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมของมอร์ซี ขณะที่กาตาร์ออกมาประณามอย่างการกดขี่ข่มเหงบรรดาผู้สนับสนุนขบวนการอิสลามิสต์กลุ่มนี้อย่างเปิดเผย จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,400 คน
เกรสเต, ฟะห์มี และโมฮาเหม็ดถูกควบคุมตัว พร้อมจำเลยอีก 6 คน มานานเกือบ 6 เดือนแล้ว
อัลญะซีเราะห์ระบุว่า มีจำเลยเพียง 9 ใน 20 คนเท่านั้นที่เป็นพนักงานของตน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงผู้สื่อข่าวต่างประเทศอีก 2 คนในต่างแดน
เรนา เนตเจส ผู้สื่อข่าวหญิงชาวดัตช์ ซึ่งไม่ได้ทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งนี้ อยู่ในหมู่จำเลยที่ไม่ได้เดินทางมาฟังการพิพากษา และถูกศาลตัดสินจำคุกมากที่สุด 10 ปี
จำเลย 16 คนเป็นชาวอียิปต์ ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นสมาชิกภราดรภาพมุลิม ซึ่งบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหมายหัวว่าเป็น “องค์การก่อการร้าย” เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 4 คนถูกกล่าวหาว่าคบคิด และช่วยเหลือจำเลยผู้ร่วมกระทำผิดชาวอียิปต์, ส่งมอบข้อมูลให้สื่อ ตลอดจนแก้ไขข้อมูลและนำออกอากาศ
บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจระบุว่า ผู้สื่อข่าวที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สถานีโทรทัศน์อัลญะซีเราะห์กล่าวก่อนการพิจารณาคดีวันนี้ (23) ว่า “ในวันที่ 23 มิถุนายน ทั่วโลกจะหันมาจับจ้องอียิปต์ เพื่อดูว่าพวกเขาจะสามารถรักษาคุณค่าของเสรีภาพสื่อมวลชนได้หรือไม่
เมื่อวันอาทิตย์ (22) จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้อียิปต์เคารพเสรีภาพของสื่อมวลชน ขณะที่เขาเดินทางเยือนกรุงไคโรโดยไม่เปิดเผย
เคร์รีกล่าวว่า เขาได้ปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่แดนไอยคุปต์ถึง “บทบาทสำคัญของสังคมพลเรือนอันมีชีวิตชีวา, การนำเสนอข่าวอย่างเสรี, หลักนิติธรรม และวิถีทางที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย
ทางด้าน นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลียวันนี้ (23) แถลงว่า ได้พูดคุยกับประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี แห่งอียิปต์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
แอบบอตต์กล่าวกับเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ เซเวนเน็ตเวิร์กของแดนจิงโจ้ว่า “ผมได้ยืนยันในฐานะที่ตนเองก็เคยเป็นผู้สื่อข่าวว่า ปีเตอร์ เกรสเต เพียงแต่รายงานข่าวเกี่ยวกับภราดรภาพมุสลิม ไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนภราดรภาพมุสลิม”
ซีซี ผู้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน กล่าวว่า เขาตั้งใจจะนำเสถียรภาพกลับคืนมาสู่อียิปต์ มากกว่าสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตย