xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัส “ชิคุนกุนยา” ระบาดหนัก ลามจากแคริบเบียนเข้า “อเมริกากลาง” แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงเป็นพาหะกำลังลุกลามเข้าสู่อเมริกากลางแล้ว หลังจากมีการระบาดในหลายประเทศแถบแคริบเบียนเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ บรรดาหน่วยงานด้านสาธารณสุขเผย

แม้ว่าเชื้อไวรัสนี้จะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยตามข้อต่อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอ่อนเพลียอย่างหนัก

“เรากำลังเผชิญกับโรคภัยที่ไม่เคยพบเจอในประเทศนี้ แต่เรากำลังทำงานเต็มที่เพื่อต่อสู้กับมัน” ไวโอเลตา เมนจิวาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเอลซัลวอดอร์แถลง โดยขณะนี้ประเทศของเขามีรายงานผู้ติดเชื้อแล้ว 1,200 กรณี

ขณะที่ปานามาก็มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ 2 ราย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเชื้อไวรัสตัวนี้แพร่เข้าสู่เอลซัลวอดอร์ได้อย่างไร และการปรากฏขึ้นของมันทั้งในประเทศนี้และปานามา สองประเทศที่ไม่มีเขตแดนร่วมกัน ได้ทำให้พื้นที่อื่นในอเมริกากลางหวั่นวิตกกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝนที่พึ่งจะเริ่มต้นและเป็นช่วงที่ยุงชุกชุมมากที่สุด

มาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกำลังดำเนินต่อไป รวมถึงการฉีดพ่นยากันยุงอย่างเป็นระบบในเอลซัลวอดอร์

ทั้งนี้ บางประเทศซึ่งรวมถึงคอสตาริกาและนิการากัวต้องยอมจำนนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในระยะสุดท้าย ทั้งที่มีการเพิ่มการตรวจตราบริเวณชายแดนเพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อคนใดข้ามเข้ามา

“เราไม่สามารถหยุดยั้งเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้แล้วจากสถานการณ์ในตอนนี้” โรเบอโต คาสโตร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอสตาริกากล่าว

“มันเป็นไปไม่ได้ที่จะวางตะข่ายจับยุงทั้งประเทศ และผู้คนจำนวนมากมายเดินทางไปมาระหว่างคอสตาริกาและประเทศแถบแคริบเบียน”

ในกัวเตมาลา กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับการเตือนภัยป้องกัน ขณะที่ผู้ป่วยที่ถูกสงสัยว่าติดเชื้อถูกนำตัวไปวินิจฉัย และฮอนดูรัสกำลังจัดทีมเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อที่คาดว่าจะมีขึ้น

แกรนมา หนังสือพิมพ์ที่เป็นของรัฐบาลคิวบา รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนเชื้อไวรัสนี้ได้ระบาดแล้วใน 16 ประเทศแถบแคริบเบียน และองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 4,500 ราย นับตั้งแต่เชื้อไวรัสนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2013

เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาแพร่เชื้อโดยยุงสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วไปมากที่สุดอย่าง ยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน ซึ่งเป็นต้นตอของโรคไข้เลือดออกด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ไวรัสชิคุนกุนยาที่ยังไม่มีวัคซีนหรือหนทางรักษาทำให้มีผู้ติดเชื้อในแอฟริกาและเอเชียนับล้านคน นับตั้งแต่ที่โรคนี้ถูกบักทึกไว้ครั้งแรกเมื่อปี 1952
ยุงลายบ้าน
ยุงลายสวน
กำลังโหลดความคิดเห็น