เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือน ในปีนี้ทวีปเอเชียอาจต้องเผชิญการกลับมาของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่งจะมีความรุนแรงมากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิด “สภาพอากาศแบบสุดขั้ว” ทั่วเอเชีย ทั้งน้ำท่วมใหญ่และภาวะแล้งจัด
วิลเลียม แพตเซิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ ประจำสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) ออกมาเปิดเผยในวันจันทร์ (16) โดยระบุว่า ข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมได้จากดาวเทียม “เจสัน-2” ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าได้เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อสภาพอากาศ รวมถึงพื้นผิวของมหาสมุทรแปซิฟิก และการเปลี่ยนแปลงที่ตรวจพบนี้มีความคล้ายคลึงกับช่วงก่อนเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในเอเชียเมื่อปี 1997
แพตเซิร์ตระบุว่า จากข้อมูลที่นาซามีอยู่ในมือขณะนี้ สรุปได้ว่ามีความเป็นไปได้ในระดับที่สูงยิ่งถึง “70 เปอร์เซ็นต์” ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญจะกลับมาเกิดขึ้นในทวีปเอเชียอีกครั้งในปีนี้ และอาจเป็นการกลับมาของเอลนีโญครั้งที่มีความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศจากนาซาระบุว่า ขณะนี้อุณหภูมิของผิวน้ำที่วัดได้จากน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณห่างจากชายฝั่งประเทศเปรูไปทางตะวันตกราว 8,000 กิโลเมตรได้เริ่มมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นกว่าปกติ และถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะนำมาซึ่งสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างสุดขั้ว และหายนะทางธรรมชาติครั้งใหญ่รวมถึงน้ำท่วม และภาวะแล้งจัด รวมถึงความเสียหายในระดับที่ “มิอาจประเมินค่าได้” ต่อผลผลิตทางการเกษตรของประเทศต่างๆทั่วเอเชีย
การออกมาเปิดเผยของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การนาซา ส่งผลให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่ 2 แล้วที่ออกคำเตือนต่อเอเชียถึงความเป็นไปได้ในการหวนคืนมาของเอลนีโญ หลังจากที่เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลียได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีความเสี่ยง “ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์” ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในเอเชียปีนี้