เอเอฟพี – พันธุวิศวกรรมสุดยอดกล้วยเสริมคุณค่าที่จะใช้พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านคนในแอฟริกาจะเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองกับมนุษย์เป็นครั้งแรกเร็วๆนี้ ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของนักวิจัยจากออสเตรเลีย
โครงการวิจัยดังกล่าวมีแผนที่จะทำให้บรรดาพันธุ์กล้วยชนิดพิเศษ ที่เสริมคุณค่าด้วยสารอัลฟาและเบตา-แคโรทีน ซึ่งร่างกายจะปรับเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ได้เติบโตในยูกันดาก่อนปี 2020
ขณะนี้กลุ่มตัวอย่างกล้วยกำลังถูกส่งไปที่สหรัฐฯ และคาดว่าการทดลองนาน 6 สัปดาห์เพื่อวัดผลการเพิ่มขึ้นของวิตามินเอในมนุษย์จะเริ่มต้นเร็วๆนี้
“วิทยาศาสตร์ที่ดีสามารถสร้างความแตกต่างที่ใหญ่หลวงได้ที่นี่ จากการเสริมคุณค่าพืชผลที่สำคัญ เช่น การเสริมคุณค่ากล้วยสายพันธุ์พื้นเมืองยูกันดาด้วยโปร-วิตามินเอ และจัดหาหนทางการเพาะปลูกเพื่อยังชีพด้วยอาหารซึ่งอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ” ศาสตราจารย์ เจมส์ เดล หัวหน้าโครงการกล่าว
โครงการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ (QUT) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ คาดหวังว่าจะได้เห็นผลสรุปภายในสิ้นปีนี้
เดล กล่าวว่ากล้วยที่ปรุงตามแบบแอฟริกาตะวันออกหรือแถบที่ราบสูงคืออาหารจานหลักของภูมิภาค แต่มีสารอาหารรองในระดับต่ำ โดยเฉพาะโปร-วิตามินเอและเหล็ก
“ผลของการขาดแคลนวิตามินเอเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก เด็กทั่วโลก 650,000 -700,000 คนกำลังจะตาย และในแต่ละปีมีเด็กอีกอย่างน้อย 300,000 คนกำลังจะตาบอด” เขากล่าว
ทีมนักวิจัยลงความเห็นแล้วว่า อาหารหลักที่ได้รับการเสริมคุณค่าคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้
ขณะที่เจ้ากล้วยดัดแปลงพันธุกรรมนี้ดูภายนอกแล้วไม่ต่างจากกล้วยทั่วไป แต่สีเนื้อของมันออกจะเป็นสีส้มมากกว่าสีครีม ซึ่ง เดล กล่าวว่า เขาดูแล้วว่ามันไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร
เขากล่าวว่า เมื่อกล้วยดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการรับรองให้เพาะปลูกเชิงการค้าในยูกันดาได้แล้ว มีความเป็นได้ที่เทคโนโลยีเดียวกันนี้จะขยายวงออกไปสู่การเพาะปลูกในประเทศอื่นๆ รวมถึง รวันดา บางพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เคนยา และแทนซาเนีย