เอเอฟพี - ผู้นำกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.) เรียกร้องให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียหยุดกระทำการใดๆ ที่จะบ่อนทำลายเสถียรภาพของยูเครน เตือนหากไม่เชื่อฟังอาจถูกคว่ำบาตรหนักขึ้น
ผู้นำรัสเซียแสดงท่าทียื่นไมตรี แม้จะถูกอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกดั้งเดิมของกลุ่ม G7 กีดกันไม่ให้เข้าพวก หลังจากที่รัสเซียผนวกแหลมไครเมียไปเป็นของตนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าตนพร้อมที่จะพบกับ เปโตร โปโรเชนโค ประธานาธิบดีคนใหม่แห่งยูเครน ซึ่งชนะเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
แม้เหล่าผู้นำ G7 จะประกาศความคาดหวังที่จะได้พูดคุยกับ ปูติน “อย่างสร้างสรรค์” ระหว่างไปร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 70 ปีวันดี-เดย์ที่ฝรั่งเศสในวันพรุ่งนี้ (6) แต่ก็ไม่วายเตือนว่า มอสโกอาจต้องเจอบทลงโทษเพิ่มเติมอีก
แถลงการณ์ร่วมของผู้นำทั้ง 7 ประเทศเรียกร้องให้ปูตินยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ซึ่ง โปโรเชนโค เป็นผู้ชนะ และให้ถอนทหารรัสเซียออกจากพรมแดนที่ติดกับยูเครน
“การกระทำที่จะบั่นทอนเสถียรภาพในยูเครนตะวันออกถือเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และต้องยุติทันที”
“เราพร้อมที่จะยกระดับการคว่ำบาตร และใช้มาตรการกดดันให้รัสเซียเป็นฝ่ายสูญเสียมากขึ้น หากมีความจำเป็น”
ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯได้กล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงวอร์ซอของโปแลนด์ ประณาม “กลโกง” ที่รัสเซียใช้กับยูเครน ท่ามกลางบรรยากาศที่ทำให้หวนนึกไปถึงความตึงเครียดยุคสงครามเย็น
โอบามาไม่แสดงท่าทีว่าอยากพบปูติน แม้ทั้งคู่จะไปร่วมพิธีรำลึกวันยกพลขึ้นบกของทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่หาดนอร์มังดีก็ตาม ขณะที่ผู้นำกลุ่ม G7 ชาติอื่นๆ ดูจะแสดงท่าทีผ่อนปรนกับมอสโกมากกว่า
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ชี้ว่าผู้นำชาติยุโรปจะหารือท่าทีของรัสเซียระหว่างการประชุมซัมมิตปลายเดือนมิถุนายน และจะประเมินว่า “จำเป็นต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมหรือไม่”
อย่างไรก็ดี นายกฯ หญิงเมืองเบียร์ซึ่งจะได้พบปะกับปูตินในฝรั่งเศส ย้ำว่า “การเจรจาอย่างสร้างสรรค์คือสิ่งสำคัญที่สุด” และใช้บทลงโทษเพิ่มเติมก็ต่อเมื่อ “ไม่มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นเลย” เท่านั้น
ด้านประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งจะแยกรับประทานอาหารค่ำร่วมกับ โอบามา และ ปูติน ที่กรุงปารีสในวันนี้(5) ก็เห็นด้วยว่า “การพูดคุยและลดความตึงเครียดคือสิ่งจำเป็น”
ผู้นำรัสเซียกล่าวเป็นนัยๆ ว่าตนพร้อมที่จะพบกับโปโรเชนโค หรือแม้กระทั่งโอบามา โดยชี้ว่า “ผมไม่คิดจะหลบหน้าใคร” และยังปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯที่ว่ากองทัพรัสเซียแทรกแซงสถานการณ์ในภาคตะวันออกของยูเครน
“ไหนล่ะหลักฐาน เอามาให้ดูหน่อยสิ” ปูตินกล่าว
“ทั่วโลกยังจำได้อยู่เลยนะ ตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เอาหลอดทดลองใส่ผงซักฟอกมาแสดงต่อคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น แล้วอ้างว่าเป็นหลักฐานยืนยันว่าอิรักใช้อาวุธทำลายล้างสูง”