xs
xsm
sm
md
lg

รบ.สหรัฐฯ “หักอก” รัฐยิว เผยมีแผนทำงานร่วมกับ “รบ.สมานฉันท์” ปาเลสไตน์-ฮามาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรี รามี ฮัมดัลเลาะห์ แห่งปาเลสไตน์ (ขวา) ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของรัฐมนตรีสมานฉันท์ ณ เมืองรามัลเลาะห์
รอยเตอร์ - รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (2 มิ.ย.) ว่ามีแผนจะร่วมมือ และมอบเงินทุนสนับสนุนให้แก่รัฐบาลสมานฉันท์ของปาเลสไตน์ ส่งผลให้อิสราเอลออกมาแสดงท่าทีผิดหวังกับการตัดสินใจดังกล่าวในทันที ขณะที่สมาชิกสภาอเมริกันบางส่วนก็ออกมากล่าววิจารณ์เช่นกัน

ประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งรัฐบาลสมานฉันท์วานนี้ (2) ซึ่งเป็นท่าทีปรองดองกับกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ “ฮามาส” ที่สนับสนุนการทำลายอิสราเอล

สหรัฐฯ มองว่าฮามาสเป็นองค์การ “ก่อการร้าย” และรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ห้ามปรามไม่ให้ส่งเงินช่วยเหลือองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (พีเอ) ในการทำงานร่วมกับรัฐบาลสมานฉันท์ โดยก่อนหน้านี้พีเอเคยบริหารงานด้วยงบประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.6 หมื่นล้านบาท) ต่อปี

เหล่าสมาชิกสภาสหรัฐฯ ระดับอาวุโสกล่าวว่า วอชิงตันควรระงับการมอบเงินช่วยเหลือ จนกว่าจะมั่นใจได้ว่ากลุ่มอิสลามิสต์กลุ่มนี้ ยึดมั่นทำตามกระบวนการสันติภาพกับอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำในการแสดงความคิดเห็นครั้งแรก นับตั้งแต่รัฐบาลปาเลสไตน์สาบานตนว่า พวกเขาเห็นว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นคนในแวดวงวิชาการ จึงยินดีที่จะทำงานร่วมกัน

เจน ซากี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานแถลงข่าวว่า “ณ จุดนี้ เห็นได้ชัดว่า ประธานาธิบดีอับบาส ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ โดยไม่หมายรวมถึงบรรดารัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกกลุ่มฮามาส”

เธอกล่าวว่า “เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่มี ตอนนี้เราจึงมีเจตนาจะทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ แต่ก็จะขอจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลชุดนี้จะยึดมั่นในหลักการที่ประธานาธิบดีอับบาสได้เน้นย้ำในวันนี้หรือไม่” ทั้งนี้ซากีกำลังหมายถึง การที่อับบาสออกมาให้คำมั่นว่าจะยึดมั่นในข้อตกลงสันติภาพที่ผ่านมา
ประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ (กลาง) ประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลสมานฉันท์ ณ เมืองรามัลเลาะห์ ในเขตเวสต์แบงก์ เมื่อวันจันทร์ (2 มิ.ย.)
ที่เยรูซาเล็ม เจ้าหน้าที่อิสราเอลคนหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยนามระบุในคำแถลงว่า “เรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลสมานฉันท์ของปาเลสไตน์”

คำแถลงระบุว่า วอชิงตันอาจผลักดันกระบวนการสันติภาพ ด้วยการเรียกร้องให้อับบาส “ล้มเลิกการทำข้อตกลงกับฮามาส แล้วหันกลับมาเจรจาสันติภาพกับอิสราเอล”

***การประเมินนโยบาย***

เมื่อถามว่าการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หมายความว่า วอชิงตันควรส่งเงินช่วยเหลือแก่ปาเลสไตน์ต่อไปใช่หรือไม่ ซากีตอบว่า “ใช่ แต่เราจะยังคงประเมินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ และดำเนินมาตรการที่สอดคล้องเหมาะสม”

ตามกฎหมาย การที่สหรัฐฯ ส่งความช่วยเหลือแก่ปาเลสไตน์อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มฮามาส “หรือนิติบุคคลใดๆ ที่อยู่ใต้ความควบคุมของฮามาส, รัฐบาลร่วมอำนาจที่ฮามาสเป็นสมาชิก หรือที่เป็นผลมาจากการบรรลุข้อตกลงร่วมกับฮามาส และรัฐบาลที่ได้รับอิทธิพลจากฮามาส

อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ระดับอาวุโสหลายคนกล่าวว่า วอชิงตันควรระงับการส่งเงินช่วยเหลือรายปี ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาอเมริกัน

ส.ส.เคย์ เกรนเจอร์ จากมลรัฐเทกซัส ซึ่งเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน และดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนคณะอนุกรรมการฝ่ายปฏิบัติงานกิจการต่างประเทศกล่าวว่า “การส่งเงินสนับสนุนปาเลสไตน์เป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาถกเถียงกัน จนกว่าจะเป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลสมานฉันท์จะถยึดมั่นหลักการแห่งสันติภาพและความมั่นคงหรือไม่”

ส.ส.เอเลียต เองเจล จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นสมาชิกระดับสูงของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า องค์การบริหารปาเลสไตน์ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะสามารถยึดมั่นในกระบวนการสันติภาพ และจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้สหรัฐฯ ระงับการส่งความช่วยเหลือเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่
อิสมาลี ฮานีเยะห์ ผู้นำระดับอาวุโสของกลุ่มฮามาสกล่าวสุนทรพจน์อำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลฮามาสที่ฉนวนกาซา ก่อนที่รัฐมนตรีสมานฉันท์จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันเดียวกัน (2 มิ.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น