xs
xsm
sm
md
lg

สื่อทั่วโลกตีข่าว รัฐประหารในไทย ชี้ อาจเป็นทางออกเดียวช่วย “ฝ่าทางตัน” วิกฤตการเมือง-เลี่ยงสงครามกลางเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอพี/เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สื่อต่างประเทศสำนักต่างๆ รายงานในวันพฤหัสบดี (22) ถึงข่าวการทำรัฐประหารในประเทศไทย หลังจากที่กองทัพประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกได้เพียง 2 วัน ชี้ อาจเป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่เพื่อ “ฝ่าทางตัน” ทางการเมือง ที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยแทบเป็นอัมพาตในช่วงที่ผ่านมา

สื่อต่างประเทศแทบทุกสำนักทั่วโลก รายงานถึงข่าวการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในประเทศไทยที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ระบุถึงเหตุผลในการก่อการยึดอำนาจเป็น “ครั้งที่ 12” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ว่า เพื่อนำความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว และผลักดันการปฏิรูป

สื่อต่างประเทศระบุ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวัย 60 ปี ได้ประกาศการยึดอำนาจครั้งนี้ทางโทรทัศน์ ไม่นานหลังจากที่ความพยายามของทางกองทัพในการเรียก “คู่ขัดแย้งทางการเมือง 7 ฝ่าย” เข้ามาหารือกันเป็นวันที่ 2 นั้น จบลงด้วยความล้มเหลว เพราะไม่มีฝ่ายใด “ยอมถอย” จากจุดยืนเดิมของตน

รายงานของสื่อนอกระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งในขณะนี้ได้ทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบได้ประกาศ “เคอร์ฟิว” ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล ครอบคลุมตั้งแต่เวลา 22.00 น. ไปจนถึงเวลา 05.00 น.

สื่อต่างประเทศระบุ ประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอันต้องเผชิญกับ “วังวนแห่งการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ” ระหว่างกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน และฝ่ายต่อต้าน “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นอำนาจ โดยความแตกแยกทางการเมืองที่สั่งสมมานานตั้งแต่ก่อนปี 2006 ส่งผลให้สังคมไทยแตกแยกเป็นฝักฝ่าย และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจที่เสรีและเปิดกว้างที่สุดของโลก

ทั้งนี้ กองทัพไทยถูกระบุว่า มีประวัติในการพัวพันกับการเข้าแทรกแซงทางการเมืองมาช้านาน โดยเฉพาะความพยายามยึดอำนาจการปกครองประเทศที่เกิดขึ้นมาแล้วนับสิบครั้ง นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อปี ค.ศ. 1932 โดยการยึดอำนาจหนล่าสุด คือ การทำรัฐประหารโค่นอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อกว่า 8 ปีก่อน

อย่างไรก็ดี วิกฤตทางการเมืองระลอกใหม่ของไทยที่ดำเนินมายาวนานกว่าครึ่งปี ตั้งแต่ปลายปี 2013 ตลอดจนเหตุรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองโดยรอบซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 28 ราย และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 700 คน ตลอดจนการปฏิเสธที่จะ “ถอยคนละก้าว” ของคู่ขัดแย้งทางการเมืองในไทย ถูกระบุว่าเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ทางกองทัพไทยต้องเข้าทำการแทรกแซงทางการเมืองด้วยการยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

รายงานของสื่อต่างประเทศ ยังระบุด้วยว่า หลังการประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศผ่านไปไม่ถึง 3 ชั่วโมง ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำแถลงยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทย ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2007 ยกเว้นในหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่มีคำสั่งให้หน่วยงานราชการ ศาลยุติธรรม และองค์กรอิสระทั้งหลายยังคงทำหน้าที่ของตนต่อไปตามปกติ พร้อมออกคำสั่งให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยุติการชุมนุมโดยไม่มีเงื่อนไข

การยึดอำนาจของกองทัพครั้งนี้ ถูกนักวิชาการในไทยตั้งข้อสงสัยว่า อาจไม่สามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองในไทยได้ และการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความวุ่นวายมากยิ่งขึ้นในประเทศ ซ้ำรอยการยึดอำนาจครั้งก่อนเมื่อปี 2006 ที่นำพาสังคมไทยดำดิ่งลงสู่ห้วงลึกแห่งความขัดแย้ง แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่า การยึดอำนาจล่าสุดโดยคณะที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น จะนำมาซึ่งความปีติยินดีของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ตาม

อย่างไรก็ดี พอล แชมเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า การทำรัฐประหารของ คสช. มีสาเหตุเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ การที่รัฐบาลรักษาการของไทยซึ่งยืนอยู่ฝั่งเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “ปฏิเสธที่จะสละอำนาจ” เพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลชั่วคราวเพื่อนำการปฏิรูป และการดึงดันอยู่ในอำนาจต่อไปของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนี้เอง ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องทำการยึดอำนาจซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2006

ด้าน มาร์ค เฟนน์ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ “เดอะ การ์เดียน” ของอังกฤษรายงานว่า ทางกองทัพถูกบีบให้ต้องทำการยึดอำนาจในครั้งนี้ ท่ามกลางระบอบประชาธิปไตยที่ “เปราะบาง” ของไทย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องสังคมไทยให้รอดพ้นจากภาวะ “สงครามกลางเมือง”




กำลังโหลดความคิดเห็น