เอเอฟพี - ตำรวจปราบจลาจลตุรกีในวันศุกร์ (16) ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ประท้วงหลายพันคน ในเมืองที่เกิดเหตุเหมืองถ่านหินระเบิดคร่าชีวิตคนงานเกือบ 300 ศพ ขณะที่รัฐบาลกำลังเผชิญปฏิกิริยาสะท้อนกลับทางการเมืองเลวร้ายลงเรื่อยๆ
เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และฉีดน้ำเข้าใส่ ในความพยายามสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงที่ตะโกนต่อต้านรัฐบาลในเมืองโซมา ทางตะวันตกของตุรกี เมืองที่มีคนงานเสียชีวิตอย่างน้อย 284 ศพ ในเหตุระเบิดที่เหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผู้ประท้วงบางส่วนปาหินเข้าใส่ตำรวจ และพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 5 คน ในนั้น 2 คนเป็นเจ้าหน้าที่ นอกจากแล้วยังมีผู้ประท้วงถูกจับกุมไปจำนวนหนึ่ง
ภาพตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำเข้าใส่ผู้ประท้วงหลายพันคนในกรุงอังการา อิสตันบูล และอิซมีร์ รวมถึงโซมา ตั้งแต่วันพฤหัสบดีจนถึงวันศุกร์ ยังย้อนให้นึกถึงเหตุการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทั่วประเทศในปี 2013
โซนัน อุลเกน หัวหน้าสถาบันศึกษาเศรษฐศาสตร์และนโยบายต่างประเทศ ศูนย์อิสตันบูล กล่าวว่า “การประท้วงบ่งชี้ถึงความแตกแยกที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในตุรกี วันนี้พวกเขามีเป้าหมายที่โศกนาฏกรรมเหมือง แต่ในวันพรุ่งนี้พวกเขาอาจประท้วงต่อต้านเรื่องอื่นๆ อีก”
โศกนาฏกรรมเหมืองระเบิด ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของตุรกี ได้กระตุ้นระลอกคลื่นแห่งความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อรัฐบาลก่อนหน้าศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม ซึ่งนายกรัฐมนตรี เรเซป เทย์ยิบ เอร์โดกัน ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถูกยกให้เป็นตัวเต็งและมีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ชนะ
พรรคฝ่ายค้านใหญ่โจมตีว่า เมื่อไม่นานนี้พรรคของเอร์โดกันคว่ำข้อเสนอในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอุบัติเหตุที่แม้ไม่รุนแรงแต่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเหมืองหลายแห่งในโซมา แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คำพูดของเขาที่บอกว่าอุบัติเหตุ ณ เหมืองแร่เป็นเรื่องปกติของธุรกิจนี้ ก็กระตุ้นต่อมโมโหและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด
นายเอร์โดกัน ถูกโห่ไล่และรถยนต์ของเขาก็ถูกรุมทุบตี ระหว่างที่ลงตรวจพื้นที่เกิดขึ้นในวันพุธ (14) จนต้องหลบหนีฝูงชนที่โกรธกริ้วที่เรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ไปหลบยังร้านค้าแห่งหนึ่ง เท่านั้นยังไม่พอในวันพฤหัสบดี (15) ภาพถ่ายนายยูซูฟ เยอร์เคล ผู้ช่วยของเอร์โดกัน กำลังเตะผู้ประท้วง ก็ซ้ำเติมความขุ่นแค้นบนโลกสังคมออนไลน์เข้าไปอีก
เหตุเหมืองระเบิดและพังถล่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งในตุรกี แต่โศกนาฏกรรมในวันอังคาร (13) นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศ และมันยังซ้ำเติมความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล หลังจากก่อนหน้านี้ก็เพิ่งมีกระแสข่าวคราวคอร์รัปชันในหมู่ครอบครัวและพันธมิตรคนสำคัญของเอร์โดกันไปหมาดๆ
ในขณะที่เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการสืบสวน แต่ในวันศุกร์ (16) นายอาคิน เซลิค ผู้อำนวยการทั่วไปของโซมา โฮลดิ้ง บริษัทเจ้าของเหมือง ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเลยไม่เอาใจใส่ “เราไม่ได้อยู่ในความประมาท เราทุกคนล้วนทำงานหนัก เราไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เลยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา”
ทาเนอร์ ยิลดิซ รัฐมนตรีพลังงาน เผยว่ามีคนงาน 787 คนอยู่ภายในเหมืองตอนเกิดระเบิด ซึ่งก่อให้เกิดไฟโหมไหม้และจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยในนั้นได้รับการอพยพออกมา 363 คน และเวลานี้อีก 18 คนยังคงสูญหายขณะที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ตายเพราะสูดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป