xs
xsm
sm
md
lg

“จัดเลี้ยง-ให้เงิน-แจกของ” การซื้อเสียงสไตล์อินเดีย ประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี ตรวจดูความถูกต้องของเอกสารประจำตัวผู้มีสิทธิออกเสียง ก่อนอนุญาตให้เข้าไปยังคูหาลงคะแนน การโหวตเลือกตั้ง ส.ส.ในนิวเดลีคราวนี้จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) ในขยัก 3 ของการเลือกตั้งทั่วประเทศอินเดีย
เอเอฟพี - รามพาล ซิงห์ คนถีบสามล้อรับจ้าง ยังไม่ลืม “งานเลี้ยง” ประชาธิปไตยอันแสนอิ่มหมีพีมันตอนที่มีการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งเขาได้อร่อยกับอาหารฟรี มีเหล้าดื่มไม่อั้น แถมท้ายด้วยการแจกสตางค์ติดกระเป๋ากลับบ้าน

“พวกเขาเลี้ยงข้าวปลาอาหารอย่างดีและมีเหล้าให้กินด้วย” ซิงห์พูดถึงน้ำใจไมตรีที่ได้รับจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งในตอนนั้น

“ผมถูกพาขึ้นรถบัสไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งคนมากมายเลยได้รับการปฏิบัติในฐานะแขกในงานเลี้ยงใหญ่โต เรายังได้เงินเป็นแบงก์ใบละ 500 รูปี (ประมาณ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 270 บาท) ใบนึง ก่อนที่พวกเขาจะขอให้เราลงคะแนนให้”

ซิงห์ที่มีรายได้เดือนละ 5,000 รูปีจากการถีบสามล้อรับจ้างบนถนนคลุกฝุ่นของกรุงนิวเดลี มีสมาชิกครอบครัว 5 คนที่ต้องเลี้ยงดู เขาจึงรู้สึกมีความสุขที่ได้ตอบแทนบุญคุณเจ้าภาพโดยผ่านการหย่อนบัตรเลือกตั้ง

“ผมมั่นใจว่า พวกเขาจะกลับมาหาเราอีก” คนถีบสามล้อวัย 42 ปีผู้นี้กำลังพูดพาดพิงถึงการเลือกตั้งสมาชิกโลกสภา (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ของอินเดียครั้งใหม่ในปีนี้

ทั้งนี้ การเลือกตั้งของแดนภารตะนั้น มิได้จัดขึ้นในวันเดียวกันทั่วประเทศ หากแต่ใช้วิธีแบ่งพื้นที่ทยอยจัดหลายๆ ขยัก โดยที่ในคราวนี้การโหวตมีทั้งหมด 9 ขยัก ซึ่งสำหรับกรุงนิวเดลี อันเป็นถิ่นที่อยู่ของซิงห์ และเป็นเมืองหลวงของอินเดียนั้น การเลือกตั้งกำหนดมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน และกว่าจะทยอยจัดจนครบเสร็จสิ้นทั่วประเทศก็คือในวันที่ 12 พฤษภาคม

แต่ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในพื้นที่ใด การโน้มน้าวผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วยเหล้าและเงินก็เป็นมุกเก่าคลาสสิกที่ใช้กันทั่วอินเดีย ถึงแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กลต.) กำหนดบทลงโทษสำหรับการซื้อเสียงเอาไว้อย่างไรก็ตาม

ตอนต้นเดือนเมษายนนี้ กลต.อินเดียแถลงว่านับตั้งแต่ออกประกาศในวันที่ 5 มีนาคม ว่าด้วยการจัดเลือกตั้งสมาชิกโลกสภาคราวนี้ สามารถยึดของกลางจากการกระทำความผิดซื้อเสียงทั่วประเทศ ในรูปตัวเงินสด 32.5 ล้านดอลลาร์ เหล้า 2.7 ล้านลิตร และเฮโรอีนอีก 70 กิโลกรัม

คิดเฉพาะเหล้าที่ยึดมาได้ ถ้าหากนำมาเลี้ยงผู้มีสิทธิ์ออกเสียงคนละ 1ใน4 ลิตร เท่าๆ กับที่ซิงห์เคยได้รับเมือปี 2009 ก็จะสามารถแจกจ่ายให้ผู้โหวตซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 814 ล้านคน ได้ถึงราว 1 ใน 8 ทีเดียว
เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของอินเดีย ใช้หมึกลบไม่ออกทำเครื่องหมายที่เล็บของผู้ที่มาใช้สิทธิแล้ว เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันการทุจริตด้วยวิธีแอบลงคะแนนซ้ำหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองจำนวนมากในแดนภารตะทราบดีถึงวิธีการต่างๆ ที่จะ “ซื้อเสียง” อย่างเนียนๆ และไม่ผิดกฎหมาย
ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ก็มีการตรวจพบเหล้าซึ่งถูกลักลอบขนส่งโดยบรรจุเอาไว้ในแทงค์น้ำ ส่วนเงินถูกซุกอยู่ในรถพยาบาลฉุกเฉิน

เค.จี. สุเรศ สมาชิกกลุ่มคลังสมองในกรุงนิวเดลีที่มีชื่อว่า “มูลนิธิ วิเวกานันท์ อินเตอร์เนชันแนล ฟาวน์เดชัน” อธิบายว่า ในประเทศที่ประชากรเกือบ 70% ยังคงมีรายได้เลี้ยงปากท้องวันละไม่ถึง 2 ดอลลาร์อย่างอินเดีย การซื้อเสียงจึงเป็นเรื่องง่ายดายอย่างยิ่ง สำหรับคนเหล่านี้แล้วการเลือกตั้งไม่ต่างอะไรกับวันแจกเงิน และพวกเขาจะแสดงความจงรักภักดีกับใคร ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าใครสัญญาจะให้อะไรบ้าง

“ดังนั้นผู้สมัครอาจจะพบว่าในท้ายที่สุดตัวเองต้องประสบความพ่ายแพ้ เพียงเพราะว่าคู่แข่งของเขากระเป๋าหนักกว่า และสามารถให้การเลี้ยงดูในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้ดีกว่าเขาเท่านั้น” สุเรศ แจกแจง

**”เลี่ยงบาลี”ด้วยการแจกของถูกกฎหมาย**

ความที่การเลี้ยงเหล้าและแจกเงินก่อนการเลือกตั้งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พรรคการเมืองต่างๆ จึงมีการพลิกแพลงดัดแปลงมาเป็นการแจกจ่ายสิ่งของที่กฎหมายการเลือกตั้งอนุญาต แต่ก็ยังคงกระทำด้วยวัตถุประสงค์เดิม อันได้แก่การทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยังคงจงรักภักดีและลงคะแนนตามที่พรรคเรียกร้องต้องการ

ชยาลาลิธา ชยาราม มุขมนตรีหญิงของรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของอินเดีย ได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีผู้เชี่ยวชาญเทคนิคนี้ โดยที่หลังจากพรรคของเธอชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในรัฐแห่งนี้เมื่อปี 2011 แล้ว ก็มีการแจกจ่ายทั้งจักรเย็บผ้า เครื่องปั่นอาหาร และแม้กระทั่งทองคำ ให้แก่คนยากจนซึ่งเป็นผู้สนับสนุน

สำหรับคำมั่นสัญญาในปีนี้ ชยาลาลิธาประกาศแจกวัว แพะ พัดลมและข้าวสาร 20 กิโลกรัมแก่คนยากจน

แน่นอนทีเดียวว่า ไม่ได้มีแต่เธอเท่านั้นที่ใช้ยุทธวิธีเช่นนี้ พรรคสมัชชะวดี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นในรัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของอินเดีย ก็ได้ให้สัญญาก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2012 ว่า จะแจกจ่ายคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปฟรีแก่นักเรียนระดัมมัธยมศึกษา

ปรากฏว่า พรรคสมัชชะวดีได้ชัยชนะอย่างงดงาม และบทเรียนของพรรคนี้ก็จะต้องได้รับการศึกษาอย่างละเอียดทีเดียว เนื่องจากรัฐอุตตรประเทศ ถือเป็นสนามแข่งขันสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับการเลือกตั้งระดับประเทศในคราวนี้ เพราะมี ส.ส.ถึง 80 คน จากจำนวนสมาชิกโลกสภาทั้งสภา 543 คน

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการแจกของ อาจจะก่อให้เกิดผลลบอย่างคาดไม่ถึง

สุเรศ จากมูลนิธิวิเวกานันท์ ย้อนอดีตตอนที่พรรคดีเอ็มเค ในรัฐทมิฬนาฑู ให้สัญญาแจกทีวีแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งระดับรัฐในปี 2006 แล้วต่อมาปรากฏว่า เอ. ราชา คนของพรรคดีเอ็มเคที่ไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลกลางที่นิวเดลี ถูกตั้งข้อหาว่าทุจริตรับสินบนในการออกใบอนุญาตดำเนินกิจการโทรศัพท์มือถือ จนทำให้คลังของประเทศชาติต้องขาดสูญรายได้ไปถึง 39,000 ล้านดอลลาร์ มันจึงกลายเป็นคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่อื้อฉาวใหญ่โตที่สุดคดีหนึ่งของอินเดีย

“ผู้ออกเสียงในทมิฬนาฑูเมื่อได้เห็นข่าวการทุจริตของดีเคพีผ่านทางเครื่องทีวีซึ่งพรรคนี้แจกให้นั่นเอง พวกเขาจึงตัดสินใจไม่ไปลงคะแนนเลือกพรรคนี้อีกในการเลือกตั้งปี 2011” เขาชี้
กำลังโหลดความคิดเห็น