เอเจนซีส์ – ทำเนียบขาวปฎิเสธที่จะอนุญาตให้ ฮามิด อาบูตาเลบี( Hamid Aboutalebi) ทูตอิหร่านประจำองค์การสหประชาชาติคนใหม่ เดินทางเข้าสหรัฐฯหลังพบมีความเกี่ยวพันกับการยึดสถานทูตสหรัฐฯประจำกรุงเตหะรานในปี 1979
ซึ่งการตัดสินใจของสหรัฐฯครั้งนี้มีผลต่อการทำหน้าที่ของ ฮามิด อาบูตาเลบี( Hamid Aboutalebi) ทูตอิหร่านประจำองค์การสหประชาชาติคนใหม่ซึ่งต้องประจำอยู่ในกรุงนิวยอร์ก
พบว่าอาบูตาเลบีมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มนักศึกษาอิหร่านที่ได้จับตัวประกันหลายสิบคนในสถานทูตสหรัฐฯประจำอิหร่าน และมีรายงานว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ถูกกดดันอย่างหนักจากรัฐสภาคองเกรสในการไม่อนุญาตให้อาบูตาเลบีเดินทางเข้าประเทศ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้เตือนเตหะรานว่า การคัดเลือกหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่เคยอยู่ในการปฎิวัตินักศึกษาอิหร่านเพื่อเป็นตัวแทนอิหร่านประจำองค์การสหประชาชาตินั้น “ไม่สร้างสรรค์”
ในขณะที่โฆษกของกิจการต่างประเทศอิหร่านประจำยูเอ็นได้กล่าวว่า “รู้สึกสียใจ” ต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ และถือว่าสหรัฐฯได้ละเมิดต่อกฏหมายตระหว่างประเทศ
โดยพบว่าทั้งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และสภาสูงสหรัฐฯได้พร้อมใจมีมติผ่านกฎหมายเพื่อห้ามการเดินทางเข้ามาสหรัฐฯของอาบูตาเลบี ซึ่งโอบามาต้องลงนามรับรองกฏหมายฉบับนี้เพื่อมีผลการบังคับใช้ต่อไป
ด้านเตหะรานกล่าวยกย่องอาบูตาเลบีว่า เป็นหนึ่งในนักการทูตที่มีฝีมือหาตัวจับยาก และสนับสนุนการดำรงตำแหน่งทูตอิหร่านประจำยูเอ็นของอาบูตาเลบี
โฆษกสหรัฐฯ เจย์ คาร์นีย์ ได้แถลงเมื่อวานนี้(11)ว่า ทั้งองค์การสหประชาชาติและอิหร่านได้รับการแจ้งจากสหรัฐฯก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐฯจะไม่ออกวีซ่าให้อาบูตาเลบีเดินทางเข้าประเทศ แต่คาร์นีย์ไม่ได้กล่าวเจาะจงว่าโอบามาจะลงนามรับรองกฏหมายไม่อนุญาตให้ทูตอิหร่านประจำยูเอ็นคนใหม่เดินทางเข้าสหรัฐฯหรือไม่ เขากล่าวเพียงว่า โอบามามีความคิดเห็นสอดคล้องกับรัฐสภาคองเกรส
อย่างไรก็ตาม อาบูตาเลบีได้ให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์อิหร่านในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เขาไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับกลุ่มนักศึกษาอิหร่านที่ได้เข้ายึดสถานทูตสหรัฐฯประจำกรุงเตหะราน และตัวเขาทำหน้าที่เป็นเพียงล่ามให้กับนักศึกษาอิหร่านที่ปฎิบัติการเท่านั้น
มีชาวอเมริกันจำนวน 52 คนถูกจับเป็นตัวประกันเป็นระยะเวลาถึง 444 วัน ช่วงเกิดวิกฤต
และนี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯได้ปฎิเสธการออกวีซาให้กับทูตต่างชาติที่ต้องเดินทางเข้าสหรัฐฯเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ และมีความกังวลในแวดวงการทูตว่า กรณีของอาบูตาเลบีอาจถูกใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต