xs
xsm
sm
md
lg

ทางการเกาหลีใต้ออก “กฎเหล็ก” ควบคุมวิวาห์ “คู่รักต่างชาติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เกาหลีใต้ในเดือนนี้ประกาศใช้กฎข้อบังคับการแต่งงานระหว่างพลเมืองกับชาวต่างชาติ ขณะที่เหล่านักวิจารณ์ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจควรมุ่งความสนใจไปที่การยื่นมือช่วยเหลือสามีหรือภรรยาต่างชาติ ที่ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีลักษณะชาตินิยมที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย

เมื่อปี 2000 เจ้าสาวที่เป็นพลเมืองของชาติอื่นๆ ในเอเชียได้ไหลบ่าเข้ามาอย่างล้นหลาม และทะยานขึ้นสูงจุดสูงสุดในปี 2005 เมื่อมีสตรีต่างชาติกว่า 30,000 ได้รับวีซ่าคู่สมรส (Resident through marriage visa)

แนวโน้มนี้มีชนวนเหตุมาจากการที่มีหญิงสาวในชนบทละทิ้งถิ่นฐานออกไปหางานทำ และแสวงหาชีวิตใหม่ในเมืองหลวง และเมืองอื่นๆ ของเกาหลีใต้กันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ชุมชนต่างๆ ที่ผู้ชายเป็นใหญ่มีสตรีไม่เพียงพอมาเป็นคู่ครอง

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลีของทางการระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาก็มีหญิงชาวต่างชาติ 236,000 คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเกาหลีใต้ด้วยวิธีการแต่งงาน และให้กำเนิดเด็กราว 190,000 คน

ทั้งนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของหญิงชาวต่างชาติจำนวนนี้เดินทางมาจากจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ไทย และมองโกเลีย ซึ่งส่วนใหญ่รู้จักกับชายชาวเกาหลีใต้ผ่านการส่งอีเมลถึงนายหน้าหาคู่ แม้ว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้ไปมาหาสู่ในประเทศบ้านเกิดของฝ่ายหญิงอยู่บ้างก็ตาม

ในตอนแรก เกาหลีใต้ไม่เคยออกกฎควบคุมนายหน้าหาคู่แต่งงาน เนื่องจากเชื่อว่าอาชีพนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดและอัตราแรงงานในแถบชนบทซึ่งลดลงฮวบฮาบได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2010 เริ่มมีรายงานออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามีภรรยาสาวต่างชาติถูกทุบตี หรือในบางกรณีถูกฆาตกรรม เป็นต้นว่า คดีสาวเวียดนาม 20 ปีซึ่งถูกสามีวิกลจริตแทงดับ หลังเดินทางมาถึงเกาหลีใต้ได้เพียงหนึ่งสัปดาห์

ในปีเดียวกันนี้เอง เกาหลีใต้ได้ออกกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษจำคุก 2 ปี แก่พ่อสื่อที่ให้ข้อมูลลูกค้าที่เป็นเท็จ หรือแนะนำผู้หญิงให้กับชายคนเดียวคราวละมากกว่า 2 คน

การออกกฎระเบียบฉบับนี้ส่งผลกระทบในทันที ดังสังเกตได้จากจำนวนพ่อสื่อที่ดิ่งฮวบลงจากที่เคยมีมากถึง 1,697 คนในปี 2011 เหลือเพียง 512 คนในสิ้นปี 2013

ข้อกำหนดฉบับล่าสุดนี้ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ระบุว่าชาวต่างชาติคนใดก็ตามที่ยื่นขอวีซ่าคู่สมรสจะต้องผ่านการทดสอบวัดระดับภาษา ขณะที่ฝ่ายชาวเกาหลีใต้ก็จะต้องมีรายได้ประจำปี 14.8 ล้านวอน (ราว 459,000 บาท) ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยและนักสังคมสงเคราะห์ต่างชี้ว่า รัฐควรให้การสนับสนุนมากกว่าจะออกกฎข้อห้ามซึ่งอาจเพิ่มความเครียดให้แก่คู่รักที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความกดดันมากมายอยู่แล้ว

โช ยังฮี จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้านถิ่น (ไอโอเอ็ม) ประจำกรุงโซลกล่าวว่า “การที่รัฐเข้าแทรกแซงมากเกินไปถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว ทั้งยังจะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา”

ฮัน กุก-ยอม ผู้อำนวยการศูนย์สิทธิมนุษยชนของผู้อพยพหญิงกล่าวว่า ก่อนอื่นรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปกป้องภรรยาต่างชาติจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง

ฮันระบุเพิ่มเติมว่า “ภรรยาต่างชาติเกือบครึ่งถูกสามีข่มเหงทำร้าย”

บรรดานักสังคมสงเคราะห์กล่าวว่า มีกรณีการใช้ความรุนแรงต่อภรรยาต่างชาติเป็นจำนวนมากที่ทางการไม่รับทราบ เพราะพวกเธอรู้สึกกลัวการเข้าแจ้งความกับตำรวจในต่างแดนที่แทบจะไม่มีหรือไม่มีเครือข่ายที่สามารถให้ความช่วยเหลือพวกเธอ

นอกจากนี้ ฮันยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ยังมีเหยื่อคนอื่นๆ ถูกขัดขวางโดยข้อบังคับซึ่งระบุว่า ภรรยาต่างชาติที่หย่าร้างก่อนได้รับสถานะพลเมือง หรือก่อนแต่งงานครบ 2 ปี จะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้อยู่อาศัยผิดกฎหมาย และต้องเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ทำให้ต้องพรากจากลูกในเกาหลีใต้

ทั้งนี้ ผลสำรวจในปี 2012 ของสถาบันพัฒนาของสตรีเกาหลีซึ่งเป็นองค์กรเอกชนชึ้ว่า มีชาวเกาหลีใต้ที่สมรสกับชาวต่างชาติมากถึง 4 ใน 10 คู่ แยกทางกันภายใน 5 ปีแรก

ราว 48 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนดังกล่าวกล่าวว่า สาเหตุของการหย่าร้างมาจากความแตกต่างจนเข้ากันไม่ได้ ขณะที่ 21 เปอร์เซ็นต์ชี้ว่า เป็นเพราะปัญหารายได้ต่ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น