xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อไวรัส “อีโบลา” ในแอฟริกา ทะลุ 100 ศพ อนามัยโลกยอมรับการระบาดของเชื้อร้ายอยู่ในขั้น “เอาไม่อยู่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” ที่กำลังระบาดหนักในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกได้เพิ่มเป็นมากกว่า 100 รายแล้ว ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันอังคาร (8 เม.ย.)

เคอิจิ ฟูกูดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกในวันอังคาร (8) โดยระบุ WHO และแวดวงสาธารณสุขโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญยิ่ง หลังจากมีแนวโน้มว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกอาจ “ควบคุมไม่อยู่” หลังพบการติดเชื้อของผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาคในเวลานี้ ทั้งที่ต้นตอของการระบาดแต่แรกนั้นถูกจำกัดวงอยู่แต่ในเขตป่าลึกทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของกินีเท่านั้น

“เราไม่เคยเผชิญหน้ากับการระบาดของอีโบลาในพื้นที่ส่วนนี้ของแอฟริกามาก่อน ผมขอย้ำว่า การระบาดของอีโบลาในเวลานี้ที่แอฟริกาตะวันตก ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญยิ่งของแวดวงสาธารณสุขโลก แต่เราอาจต้องยอมรับความจริงว่าเราอาจล้มเหลวในการยับยั้งการระบาดของเชื้อมรณะในคราวนี้”ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าว

ท่าทีล่าสุดของผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกที่ระบุว่า อาจควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกไม่อยู่ มีขึ้นหลังมีการยืนยันว่ายอดผู้เสียชีวิตล่าสุด จากการตกเป็นเหยื่อของเชื้อมรณะที่ยังไม่มีหนทางรักษาชนิดนี้ ได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 101 รายแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตในประเทศกินีที่เป็นต้นตอของการระบาดครั้งนี้

ข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า กรุงโกนากรีเมืองหลวงของกินีที่เป็นบ้านของประชากรกว่า 2 ล้านคน ถือเป็น “พื้นที่วิกฤต” ด้านสาธารณสุขในเวลานี้ จากการที่พบผู้ติดเชื้ออีโบลารายใหม่รวดเดียวถึง 20 คนนับตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

จนถึงขณะนี้มีรายงานว่า เชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งเริ่มการระบาดรอบนี้ที่ประเทศกินี ได้ลุกลามเข้าสู่หลายประเทศในแอฟริกาตะวันตกแล้วทั้งไลบีเรีย, เซียร์รา ลีโอน, มาลี รวมถึง กานา ขณะที่รัฐบาลเซเนกัลซึ่งประกาศปิดพรมแดนด้านที่ติดต่อกับกินีอย่างไม่มีกำหนด ออกมายืนยันว่ายังไม่พบรายงานการระบาดในประเทศของตน

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสอีโบลาถูกพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1976 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แต่การระบาดหนที่ถือว่ามีความรุนแรงที่สุด คือ การระบาดเมื่อปี 2000-2001 ในประเทศยูกันดาที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 425 ราย และครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต




กำลังโหลดความคิดเห็น