เอเอฟพี - เหล่าผู้นำรัฐสภาสหรัฐฯ ประกาศวานนี้ (8 เม.ย.) ว่า “ต้นอ่อน” ของไม้ยืนต้นที่ “แอนน์ แฟรงก์” เด็กสาวซึ่งตกเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขียนถึงในบันทึกชื่อก้องโลก ระหว่างหลบซ่อนจากทหารนาซี จะถูกนำมาปลูกที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือนนี้
จอห์น เบอเนอร์ ประธานสภาสหรัฐฯ และแฮร์รี รีด ผู้นำพรรคเสียงข้างมากในวุฒิสภาเปิดเผยว่า “ต้นไม้ที่เป็นอนุสรณ์ของแอนน์ แฟรงก์ คือต้นอ่อนที่เจริญมาจากเมล็ดพันธุ์ “ต้นเกาลัค” ที่ปรากฏในบันทึกของเธอ”
ทั้งสองอธิบายว่า ต้นไม้ต้นดังกล่าว “ขึ้นอยู่ด้านนอกอาคารในกรุงอัมสเตอร์ดัม สถานที่ซึ่งเธอและครอบครัวใช้หลบซ่อนตัวจากทหารนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2”
ต้นเกาลัคต้นนี้จะถูกนำไปปลูกในสนามหญ้าหน้ารัฐสภาอเมริกันด้านทิศตะวันตกในพิธีการซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 30 เมษายนนี้
ทั้งนี้ ต้นเกาลัคต้นนี้เป็นหนึ่งในต้นอ่อนหลายต้นซึ่งเจริญมาจากเมล็ดพันธุ์ของต้นเดิม ที่หักโค่นลงนอกอาคารในกรุงอัมสเตอร์ดัมเมื่อปี 2010
แฟรงก์เขียนบันทึกจากการสังเกตการณ์ของตัวเองมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 1942 ถึงเดือนสิงหาคม 1944 ขณะที่เด็กหญิงชาวยิวผู้นี้และครอบครัวยังอยู่ในที่ซ่อน เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์
เธอถูกจับเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปี 1944 และ 7 เดือนต่อมาก็เสียชีวิตลงขณะมีอายุ 15 ปี ที่ค่ายกักกัน “แบร์เกน-เบลเซิน”
ทั้งนี้ เพื่อนคนหนึ่งซึ่งมีความใกล้ชิดกับครอบครัวของเธอได้เก็บรักษาบันทึกเล่มนี้เอาไว้ จากนั้น อ็อตโต แฟรงก์ บิดาของแอนน์ก็นำออกตีพิมพ์เผยแพร่ จนในที่สุดมีฉบับแปลมากกว่า 60 ภาษา ซึ่งรวมถึงฉบับแปลภาษาไทยที่มีชื่อว่า “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงก์”