xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลังเยอรมนียัน “ทำดีที่สุดแล้ว” ในการช่วยกรีซแก้วิกฤตหนี้สิน ชี้ปัญหากรีซ “ไม่ใช่ความผิดของอียู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โวล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี
เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - โวล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ยืนยันในวันอาทิตย์ (6 เม.ย.) โดยระบุว่ารัฐบาลเยอรมนีได้ดำเนินการอย่างดีที่สุดแล้วต่อวิกฤตหนี้สินของกรีซ พร้อมย้ำปัญหาของกรีซไม่ใช่ความผิดพลาดของสหภาพยุโรป (อียู)

ชอยเบิล วัย 71 ปี ซึ่งรับหน้าที่ “ขุนคลังคู่ใจ” ของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล มาตั้งแต่เมื่อปี 2009 เปิดใจให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์รายวัน “คาทิเมรินี” ของกรีซ โดยยืนยันว่าปัญหาการว่างงานและวิกฤตหนี้สินของกรีซไม่ใช่ผลที่เกิดจากนโยบายใดๆ ของยุโรป และย้ำว่ามาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจสุดเข้มงวดที่สหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นำมาบังคับใช้กับกรีซนั้นถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมแล้ว เมื่อเทียบกับระดับของความเลวร้ายของวิกฤตที่กรีซต้องเผชิญ

“อย่าไปฟังใครก็ตามที่พูดพล่อยๆ ว่ามีวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายดายกว่านี้ ผมขอยืนยันว่า มาตรการต่างๆที่นำมาบังคับใช้กับกรีซล้วนมีความจำเป็น และเป็นวิธีการที่ได้ผล” ชอยเบิลกล่าวพร้อมเผยว่า เศรษฐกิจของกรีซในเวลานี้กำลังเดินหน้าสู่การมีเสถียรภาพในระดับที่ “ดีกว่า” และ “เร็วกว่า” ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี ชอยเบิลชี้ว่า กรีซยังคงต้องมุ่งมั่นในการลดทอนหนี้สาธารณะของตนลงมาให้อยู่ที่ระดับ 124 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2020 จากระดับปัจจุบันที่ 175 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี พร้อมย้ำว่าการรักษาวินัยทางการคลัง ถือเป็นทางออกเดียวที่จะนำกรีซหลุดพ้นจากวิกฤต

ท่าทีล่าสุดของรัฐมนตรีคลังเยอรมนีมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลกรีซเพิ่งกลับมาออกพันธบัตรระยะสั้นได้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่ต้องขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในปี 2010 และคาดว่ากรีซจะมีศักยภาพในการหวนคืนสู่ตลาดกู้ยืมระหว่างประเทศได้อีกครั้งก่อนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นในกรีซมีขึ้นหลังจากเศรษฐกิจกรีซประสบภาวะ “หดตัวต่อเนื่อง” นานถึง 6 ปี ซึ่งส่งผลให้จีดีพีของประเทศหายไปถึง 1 ใน 4 ขณะที่ตัวเลขการว่างงานในกรีซพุ่งสูงมากกว่า 27.5 เปอร์เซ็นต์

โดยที่เจ้าหนี้ 3 ฝ่าย หรือ “ทรอยก้า” ของกรีซ ที่ประกอบด้วย อียู ไอเอ็มเอฟ และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ถูกวิจารณ์หนักถึงการบังคับใช้เงื่อนไขสุดโหดทางเศรษฐกิจ เพื่อแลกกับการปล่อยเงินกู้ที่ช่วยประคองให้กรีซรอดพ้นจากภาวะ “ล้มละลาย”

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ไอเอ็มเอฟยอมรับว่าประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจของกรีซ จากผลของการตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐและการขึ้นภาษีในระดับที่ต่ำเกินไป และยอมรับว่ามาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่นำมาบังคับใช้กับกรีซนั้น ได้สร้างผลกระทบทางสังคมเป็นวงกว้างกว่าที่ประเมินไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น