เอเอฟพี /เอเจนซีส์- วันนี้ (2 เม.ย.) ศาลสูงออสเตรเลียได้ตัดสินให้ชาวออสเตรเลียสามารถระบุใช้ “เพศกลาง” ได้ตามกฏหมายหากประสงค์ที่ไม่ต้องการระบุเพศหญิงหรือชาย ถือว่าคำตัดสินนี้สิ้นสุดข้อต่อสู้ทางกฏหมายที่ยืดเยื้อของนอร์รี นักรณรงค์สิทธิเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในออสเตรเลีย
“ศาลสูงออสเตรเลียถือว่าประชาชนออสเตรเลียไม่จำเป็นต้องเป็นทั้งเพศหญิงหรือชาย และอนุญาตให้บุคคลผู้นั้นสามารถระบุ “ไม่ต้องการระบุเพศ” ได้ เป็นผลให้การยื่นขออุทธรณ์ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่ต้องการให้ระบุแค่เพศหญิงหรือเพศชายต้องตกไป ซึ่งการไม่ต้องการระบุทางเพศนั้นเป็นเพราะบุคคลผู้นั้นยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าตนเองนั้นเป็นเพศใด ซึ่งต่างจากบุคคลข้ามเพศ หรือเพศที่ 3 (Transgender) ที่สามารถตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการเป็นเพศใด และต่างจากบุคคลที่มีความผิดปกติทางร่างกายในการระบุว่าเป็นหญิงหรือชาย (Intersex) เช่น บุคคลที่มีอวัยภายนอกดูเหมือนเป็นหญิงแต่มีอวัยภายในคล้ายชาย
คดีนี้มีต้นกำเนิดมาจาก “นอร์รี” ที่ยื่นฟ้องเพื่อขอไม่ระบุเพศตามกฎหมาย โดยนอร์รีที่ประสงค์เปิดเผยเพียงชื่อต้นนั้นเป็นเพศชายตามกฎหมายเมื่อแรกเกิดในสกอตแลนด์ และต่อมาในปี 1992 นอร์รีได้ผ่าตัดแปลงเพศเพื่อเป็นสตรี แต่การแปลงเพศยังไม่สามารถทำให้นอร์รีตัดสินใจที่จะระบุสถานะทางเพศได้ และนำไปสู่ความคิดเรื่อง “เพศกลาง” ในที่สุด โดยในปี 2010 เดือนกุมภาพันธ์ นอร์รีตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิพม์ทั่วโลก เมื่อการขอยื่นของนอร์รีโดยระบุ “ไม่ขอระบุเพศ” ต่อแผนกทะเบียนราษฎรของรัฐนิวเซาท์เวลส์นั้นได้รับอนุญาตจากทางรัฐ
แต่ภายหลังจากนั้นทางรัฐได้เพิกถอนการอนุญาต พร้อมอ้างว่าการออกใบอนุญาตในครั้งนั้นเป็นความผิดพลาด ซึ่งนอร์รีได้กล่าวเปิดเผยความรู้สึกในขณะนั้นว่า “เหมือนถูกลอบสังหารทางสังคม” และเป็นผลทำให้ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ในศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ในปี 2013 และปรากฏว่าคำพิพากษาเข้าข้างนอร์รี และในที่สุดคำตัดสินของศาลสูงออสเตรเลียวันนี้ (2) ยังยืนกรานคำพิพากษาเดิมของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลสตัดสินให้นอร์รีชนะ
โดยทีมทนายความของนอร์รีได้กล่าวในชั้นศาลว่า “นอร์รีถูกบังคับให้โกหกทุกครั้งที่ต้องกรอกเอกสารที่มีระบุเพียง 2 เพศ” และศาลกล่าวว่า “เพศของนอร์รีนั้นยังถือว่า “คลุมเครือ” และอาจจะนำไปสู่การให้ข้อมูลที่ผิดได้หากทางราชการจะบังคับให้นอร์รีต้องเลือกระหว่างหญิง หรือชาย”
ซึ่งนอร์รีที่อาศัยอยู่ในซิดนีย์ได้ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีในปี 2013 ว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในการ “ไม่ระบุเพศ” โดยกล่าวว่า “ชาวซิดนีย์ส่วนใหญ่รับได้กับความเป็นจริง นอร์รีไม่ใช่เป็นคนแรกในสังคมนี้ แต่เป็นคนแรกที่ป่าวประกาศให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาที่มีอยู่แล้ว”
ด้านองค์กร Intersex International Australia (IIA) ได้ตอบรับคำตัดสินของศาลสูงออสเตรเลีย “หวังว่าสื่อออสเตรเลียจะเข้าใจความแตกต่างระหว่าง 1. “บุคคลที่ยังไม่สามารถเลือกได้ว่าเป็นหญิงหรือชาย เช่น นอร์รี” 2. “บุคคลแปลงเพศ” และ 3. บุคคลที่มีความผิดปกติที่ทางร่างกายที่ไม่สามารถถูกจัดว่าเป็นเพศใดได้ หรือ Intersex” IIA กล่าวผ่านแถลงการณ์