xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหว 4.8 เขย่า “เยลโลว์สโตน” แรงสุดในรอบ 34 ปี ปลุกกระแสผวา “มหาภูเขาไฟใต้พิภพ” ระเบิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ซึ่งตั้งอยู่เหนือมหาภูเขาไฟ (แคลดีรา) ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
รอยเตอร์ - อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่เหนือ “มหาภูเขาไฟ” ลูกใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เผชิญแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 34 ปี เมื่อวานนี้ (30) แต่ล่าสุดยังไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ

สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวแห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ แถลงว่า แรงสั่นสะเทือนซึ่งไม่รุนแรงนักมีศูนย์กลางอยู่บริเวณมุมทางตะวันตกเฉียงเหนือของอุทยานแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้ก็ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดย่อมๆ ที่เยลโลว์สโตนมาแล้วหลายระลอก ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่แล้ว (27)

แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเวลา 06.34 น.ตามเวลาท้องถิ่น ใกล้กับแอ่งน้ำพุร้อนนอร์ริส (Norris Geyser Basin) และสามารถรับรู้ได้ถึงเมืองการ์ดิเนอร์ และเวสต์เยลโลว์สโตน ซึ่งเป็นสองเมืองเล็กๆในรัฐมอนทานาที่อยู่ห่างออกไปราว 37 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนซึ่งกินพื้นที่ครอบคลุม 3 รัฐ ได้แก่ ไวโอมิง, มอนทานา และไอดาโฮ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายาก เช่น กระทิง และยังมีแอ่งน้ำพุร้อนที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวถึง 3 ล้านคนในแต่ละปี

ทีมสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ได้ออกเดินทางไปยังแอ่งน้ำพุร้อนนอร์ริสเมื่อวานนี้ (30) เพื่อตรวจสอบว่าแผ่นดินไหวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อลักษณะทางกายภาพของแหล่งความร้อนใต้พิภพ เช่น ไกเซอร์ (น้ำพุร้อนขนาดใหญ่ที่พุ่งขึ้นจากใต้ดินเป็นช่วงๆ), บ่อโคลนเดือด และน้ำพุร้อน หรือไม่

ตำรวจในเมืองเวสต์เยลโลว์สโตนเปิดเผยว่า ชาวบ้านหลายคนรู้สึกว่าแผ่นดินสะเทือนเหมือนรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ขับผ่านบ้าน และมีสิ่งของร่วงหล่นจากชั้นวางในร้านขายของชำแห่งหนึ่ง

ข้อมูลจากศูนย์สังเกตการณ์อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน, มหาวิทยาลัยยูทาห์ และสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) ระบุว่า พื้นที่บริเวณนี้จะเกิดแผ่นดินไหวราวๆ 1,000-3,000 ครั้งในแต่ละปี

นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่กี่ปีมานี้ว่า มหาภูเขาไฟเก่าแก่ หรือ “แคลดีรา” ที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้ผืนดินเยลโลว์สโตนมีความกว้างประมาณ 48 กิโลเมตร หรือใหญ่กว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 2.5 เท่า

แรงสั่นสะเทือนเมื่อวานนี้ (30) เกิดขึ้นใกล้กับศูนย์กลางการยกตัวของแผ่นดิน (uplift) ซึ่งนักธรณีวิทยาได้เฝ้าติดตามมานานหลายเดือน นอกจากนี้ยังพบว่ากิจกรรมแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่แผ่นดินยกตัวครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปี 1996-2003

USGS ชี้ว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในระยะนี้มีความเชื่อมโยงกับการยกตัวของแผ่นดิน ซึ่งเกิดจากการที่หินละลายใต้พิภพเคลื่อนตัวขึ้นสู่พื้นผิวโลก

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบสัญญาณบ่งชี้ว่า กิจกรรมแผ่นดินไหวอาจนำมาซึ่งการระเบิดของแคลดีราที่อยู่ใต้ผืนดินเยลโลว์สโตน
กำลังโหลดความคิดเห็น