เอเอฟพี - ทางการมาเลเซียแถลงวันนี้ (26 มี.ค.) ว่าภาพถ่ายล่าสุดที่ดาวเทียมสามารถจับได้ระหว่างการค้นหาเครื่องบินโดยสารของมาเลเซียได้เผยให้เห็น “วัตถุต้องสงสัย” 122 ชิ้นในมหาสมุทรอินเดีย
ฮิชามุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซีย กล่าวว่า ภาพถ่ายจากฝ่ายการทหารและเทคโนโลยีอวกาศของ “แอร์บัสกรุ๊ป” กิจการอากาศยานแดนน้ำหอมได้เผยให้เห็นวัตถุปริศนาที่ลอยอยู่ในพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตรของมหาสมุทรอินเดีย
ฮิชามุดดินกล่าวในการแถลงข่าวว่ายังระบุไม่ได้ว่า วัตถุต้องสงสัยเหล่านี้มาจากเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER ซึ่งตกลงไปในมหาสมุทรขณะลำเลียงลูกเรือและผู้โดยสารรวม 239 ชีวิตเมื่อวันที่ 8 มีนาคมหรือไม่
เขากล่าวว่า “กระนั้น ข้อมูลนี้ก็เป็นอีกเบาะแสหนึ่งที่จะช่วยชี้ทางให้กับปฏิบัติการค้นหา”
ภาพถ่ายจากดาวเทียมซึ่งก่อนหน้านี้ ออสเตรเลีย จีน และฝรั่งเศส นำออกเผยแพร่ก็เผยให้เห็นวัตถุ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเที่ยวบิน MH370 เช่นกัน แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังค้นหาชิ้นส่วนเหล่านั้นไม่พบ แม้ว่านานาชาติจะระดมกำลังกันช่วยค้นหาครั้งใหญ่แล้วก็ตาม
ฮิชามุดดิน ชี้แจงว่า แอร์บัสได้ถ่ายภาพนี้เมื่อวันอาทิตย์ (23) และส่งมาถึงเขาวานนี้ (25) ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังสำนักงานของออสเตรเลีย ที่รับหน้าที่ประสานงานในภารกิจค้นหาครั้งนี้ภายในทันที
เขากล่าวว่า สำนักงานวิเคราะห์ข้อมูลระยะไกลแห่งมาเลเซีย (Malaysian Remote Sensing Agency ) ระบุว่าพบ “วัตถุต้องสงสัย” 122 ชิ้น ภายหลังที่นำภาพถ่ายจากดาวเทียมไปวิเคราะห์ โดยบางชิ้นมีความยาว 1 เมตร ขณะที่ชิ้นอื่นๆ มีความยาวถึง 23 เมตร
รัฐมนตรีผู้นี้ระบุว่า “วัตถุบางชิ้นมีสีอ่อนสว่าง และอาจเป็นของแข็ง”
ทั้งนี้ พบวัตถุเหล่านี้ในจุดซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเพิร์ธของออสเตรเลียไปราว 2,557 กิโลเมตร ในเวลาที่ความพยายามค้นหากำลังพุ่งเป้าไปที่น่านน้ำ ซึ่งอยู่ห่างจากภาคตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย
***ภารกิจค้นหาเที่ยวบิน MH370 ในพื้นที่ซึ่งจำกัดวงแคบลง***
เครื่องบินทั้งหมด 12 ลำ และเรืออีก 5 ลำจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยังคงระดมกำลังกันค้นหา ด้วยความหวังที่จะพบซากเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สักชิ้น ที่สามารถเป็นหลักฐานยืนยันว่าเครื่องบินลำนี้ตกหายลงไปในทะเลจริงๆ
ข้อมูลใหม่ได้ทำให้ขอบเขตการค้นหาเที่ยวบิน MH370 จำกัดวงแคบลง แต่ก็ยังคงเป็นพื้นที่ขนาดกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งกินอาณาบริเวณถึง 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดพอๆ กับมลรัฐอะแลสกา
นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลีย กล่าวกับเครือข่ายโทรทัศน์ไนน์ในวันนี้ (26) ว่า “เราจะทุ่มทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีเพื่อภารกิจค้นหาครั้งนี้”
ในเวลาต่อมา เขากล่าวกับเครือข่ายโทรทัศน์ไนน์ว่า “จุดนี้แทบจะเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากที่สุดเท่าที่เราเคยเจอ เพราะอยู่ห่างจากชายฝั่งทุกด้านหลายพันกิโลเมตร” พร้อมทั้งให้คำมั่นว่า “เราจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อไขปริศนานี้”
จีน ซึ่งตอนนี้ได้ส่งเรือรบหลายลำ และเรือตัดน้ำแข็ง “เซี่ยหลง” เข้าไปในพื้นที่ค้นหานั้น มีเจตนาที่จะปกป้องผลประโยชน์ของญาติพี่น้องของผู้โดยสารชาวจีนบนเที่ยวบินนี้ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนข้อเรียกร้องของพวกเขา ที่ต้องการให้รัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยรายละเอียด ที่ทำให้กัวลาลัมเปอร์ปักใจเชื่อว่าเครื่องบินลำนี้ตกลงไปทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย
นอกจากนี้ เหตุผลที่ว่ามายังอาจเป็นสาเหตุที่ทางการจีน ซึ่งปกติแล้วจะสามารถรับมือกับการประท้วงที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสังคมได้อย่างทันท่วงที วานนี้ (25) กลับเปิดโอกาสให้เหล่าญาติผู้โดยสารหลายร้อยชีวิตเดินขบวนประท้วงที่ด้านนอกของสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ในเวลาที่ผู้ชุมนุมพากันกู่ร้องประณามมาเลเซีย ขว้างปาขวดน้ำ และปะทะกับตำรวจอยู่ช่วงหนึ่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามกันพวกเขาออกจากกลุ่มสื่อมวลชน
สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า จีนได้ส่ง จาง จื้อจิว์น รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแดนมังกรไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์เป็น ในฐานะทูตพิเศษ และในวันนี้ (26) จางได้เดินทางไปเข้าพบนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ
ภารกิจค้นหาซากเครื่องบิน ข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบิน MH370 และเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน จะเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความพยายามอย่างหนักหน่วง ดังที่ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่ต้องอุทิศเวลาถึง 2 ปีเพื่อค้นหากล่องดำของเครื่องบินสายการบิน “แอร์ฟรานซ์” ที่จมลงไปในมหาสมุทรแอตแลนติก ขณะออกจากรีโอเดจาเนโร เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงปารีส เมื่อปี 2009 และจากนั้นเพียงไม่กี่วันจึงจะสามารถระบุตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุ
และในครั้งนี้ ทีมค้นหาต้องค้นหากล่องดำของเที่ยวบิน MH370 แข่งกับเวลา เมื่อเครื่องส่งสัญญาณ (Pinger) บอกตำแหน่งของกล่องดำที่อาศัยพลังงานจากแบตเตอรีอาจหยุดทำงานภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากแบตเตอรีออกแบบมาให้รองรับการใช้งานอย่างน้อย 1 เดือน
เมื่อวานนี้ (25) องค์การความปลอดภัยด้านการเดินเรือออสเตรเลีย (AMSA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับหน้าที่ประสานงานในการค้นหาทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียในนามของมาเลเซีย กล่าวว่า “อุปกรณ์แบบใช้เรือลากจูงเพื่อใช้ค้นหาตำแหน่งของเครื่องส่งสัญญาณ (Towed Pinger Locator) ได้ถูกส่งมาถึงเมืองเพิร์ธพร้อม “ยานใต้น้ำไร้คนขับ” บลูฟิน-21 โดยจะติดตั้งอุปกรณ์ทั้งสองเข้ากับเรือรบ “โอเชียน ชีลด์” ของออสเตรเลีย แต่ AMSA ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะส่งเครื่องมือเหล่านี้เข้าร่วมในภารกิจค้นหาเมื่อใด ทั้งนี้อุปกรณ์ไฮเทคทั้งสองเป็นของกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยที่โฆษกกระทรวงกลาโหมอเมริกัน (เพนตากอน) ได้แถลงไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะมีการนำเอามาใช้ ก็ต่อเมื่อสามารถกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการค้นหาให้แคบลงมากว่านี้แล้ว
ทางด้าน เดวิด เฟร์เรย์รา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเรดดิง ในอังกฤษ กล่าวว่า แทบไม่ทราบว่าสภาพภูมิประเทศใต้มหาสมุทร บริเวณที่เชื่อกันว่าเครื่องบินลำนี้น่าจะตกลงไปมีลักษณะเป็นเช่นใด
เฟร์เรย์รากล่าวเสริมว่า “เรายังรู้จักพื้นผิวดวงจันทร์ดีกว่าก้นบึ้งมหาสมุทรอินเดียแถบนั้นเสียอีก”
ทางฝ่าย เคร์รี ซีห์ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวัง “เอิร์ธ ออบเซอร์วาทอรี” แห่งสิงคโปร์ชี้ว่า ก้นบึ้งมหาสมุทรแถบที่กำลังดำเนินภารกิจค้นหากันอยู่นี้มีลักษณะแบนราบ โดยมีพื้นที่ลาดเอียง และเป็นร่องคล้ายจุดที่พบซากเครื่องบินของสายการบินแอร์ฟรานซ์ ในมหาสมุทรแอตแลนติก
เขากล่าวว่า ไม่ได้คิดว่าที่ก้นบึ้งมหาสมุทรมากนักจะมีกระแสน้ำมากนัก และเชื่อว่าเมื่อชิ้นส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่ชิ้นใดก็ตามจมลงไป ก็น่าจะยังอยู่ที่เดิม แต่ส่วนที่ยากคือการกู้ซากเครื่องบินขึ้นมา เพราะมหาสมุทรบริเวณนั้นลึกมาก โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่กำลังทำการค้นหามีความลึกตั้งแต่ 3,000-4,500 เมตร ขณะที่การค้นหาในบริเวณผิวน้ำก็ยังต้องเผชิญกับสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากบริเวณนั้นมีคลื่นลมแรงอยู่เป็นประจำ
“พื้นที่ในมหาสมุทรบริเวณนี้เป็นเข้าถึงยากมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากลัว” ซีห์กล่าว “ผมกังวลว่า ผู้ที่ปฏิบัติภารกิจนี้จะต้องประสบปัญหาใหญ่”
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียได้ประกาศเตือนว่า ในวันพรุ่งนี้ (27) สภาพอากาศอาจทวีความเลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากแนวปะทะอากาศเย็นจะพัดผ่านพื้นที่ค้นหา จนทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เมฆลอยต่ำ และกระแสลมแรง