รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัสเซียใช้สิทธิยับยั้ง (วีโต้) ในวันเสาร์ (15 มี.ค.) ต่อร่างมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เตรียมประกาศให้แผนจัดลงประชามติเพื่อแยกตัวจากยูเครนของสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ร่างมติดังกล่าวของคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งเสนอโดยสหรัฐฯ มีเนื้อหาที่ระบุว่า การจัดลงประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ (16) ในไครเมียเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังมีถ้อยคำในร่างดังกล่าวที่เรียกร้องให้นานาชาติ ไม่ให้การรับรองต่อสถานะอื่นใดของไครเมีย นอกเหนือไปจากการเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของยูเครน
ซาแมนธา เพาเวอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำองค์การสหประชาชาติออกมาแถลงหลังการลงมติของที่ประชุม 15 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง โดยระบุว่าการวีโต้ของรัสเซียต่อร่างมติดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้า
รายงานข่าวระบุว่า ผลการลงมติปรากฏว่า 13 จาก 15 ชาติที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงชุดปัจจุบัน เห็นด้วยกับร่างมติดังกล่าวของสหรัฐฯที่คัดค้านการลงประชามติของไครเมียเพื่อแยกตัวออกจากยูเครน ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนงดออกเสียง ส่วนรัสเซียซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงได้ใช้สิทธิยับยั้ง เป็นเหตุให้ร่างดังกล่าวมีอันต้องตกไป
ด้านเชราร์ด อาโรด์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำยูเอ็น ออกมาเตือนว่ารัสเซียกำลังใช้ข้ออ้างเรื่องการปกป้องพลเมืองของตนในยูเครน มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับแผนการผนวกดินแดนไครเมียเข้ากับรัสเซีย ทั้งๆ ที่ดินแดนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยของยูเครน และประชาคมระหว่างประเทศก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่าความพยายามใดๆ ในการแบ่งแยกไครเมียออกจากยูเครน จะถือเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่ วิทาลี ชูร์กิน ทูตรัสเซียประจำยูเอ็นออกมายอมรับว่าไม่รู้สึกแปลกใจกับท่าทีของชาติสมาชิกส่วนใหญ่ในคณะมนตรีความมั่นคงที่คัดค้านการจัดลงประชามติในไครเมีย และย้ำว่ารัฐบาลรัสเซียพร้อมดำเนินทุกมาตรการที่จำเป็น เพื่อปกป้องพลเมืองของตนในยูเครน จากภัยคุกคามและอันตรายทั้งปวง