เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติแถลงวันนี้ (11 มี.ค.) ว่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสงครามซีเรียมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 5.5 ล้านคน ซึ่งเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ติดอยู่พื้นที่ปิดล้อมโจมตี และพื้นที่ซึ่งความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง
ในรายงานที่มีชื่อว่า “Under Siege -- the devastating impact on children of three years of conflict in Syria” (ขณะตกอยู่ในวงล้อม -- ผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเด็ก ในช่วง 3 ปีของสงครามซีเรีย) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ซึ่งเป็นองค์การพิทักษ์สิทธิเด็กระบุว่า ดูเหมือนสถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
“ขณะที่เด็กๆ ซีเรียถูกตัดขาดจากการให้ความช่วยเหลือ อาศัยอยู่ในซากปรักหักพัง และต้องดิ้นรนหาอาหาร มีจำนวนมากที่ไม่ได้รับการปกป้อง การรักษาพยาบาล และการประคับประคองทางจิตใจ ทั้งยังแทบไม่ได้รับการศึกษา หรือไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ที่ร้ายกว่านั้นคือ เด็กและหญิงมีครรภ์ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการถูกซุ่มยิงโดยไต่ตรองไว้ก่อน” รายงานฉบับดังกล่าวระบุ
รายงานฉบับนี้ชี้ว่า ในตอนนี้มีเด็กถึง 1 ล้านคนติดอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมในซีเรีย หรือบริเวณที่ยากต่อการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ขณะที่อีกราว 2 ล้านคนกำลังต้องการการประคับประคองทางจิตใจ หรือการเยียวยาสภาพจิตใจ
แอนโทนี เลค ผู้อำนวยการบริหารยูนิเซฟกล่าวว่า “สำหรับเด็กๆ ชาวซีเรียแล้ว 3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดในชีวิต แล้วนี่พวกเขายังต้องทนทรมานอีกปีหรือ”
รายงานฉบับนี้มุ่งประเด็นสำคัญไปที่ความเสียหายใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามซีเรีย เป็นต้นว่า “ชีวิตของเด็กจำนวนมากที่ถูกสงคราม 3 ปีทำลาย ขณะสะท้อนให้เห็นถึงบาดแผลลึกทางจิตใจที่เด็กจำนวนมากต้องเผชิญ”
รายงานฉบับดังกล่าวย้ำเตือนว่า “ยังไม่รู้ว่าอนาคตของเด็ก 5.5 ล้านคนที่อาศัยในซีเรีย และที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นเช่นไร เนื่องจากเหตุรุนแรง สุขภาพที่ทรุดโทรม และการศึกษาอันกระท่อนกระแท่น ความอึดอัดบีบคั้นทางจิตใจขั้นรุนแรง และผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อครอบครัวที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ต่างก็มีส่วนทำลายเด็กรุ่นนี้”
ตอนนี้ในประเทศที่เปิดให้ชาวซีเรียเข้าไปลี้ภัยนั้น มีเด็กซีเรียอาศัยอยู่ตามค่ายและชุมชนผู้ลี้ภัยที่มีสภาพแออัดมากถึง 1.2 ล้านคน ขณะที่มีน้ำสะอาด อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือโอกาสในการเล่าเรียนอย่างจำกัด
ยูนิเซฟประมาณการว่า ตอนนี้มีเด็กผู้ลี้ภัยถึง 1 ใน 10 กำลังทำงานหาเลี้ยงชีพ และทุกๆ 1 ใน 5 ของหญิงชาวซีเรียที่จดทะเบียนสมรสในจอร์แดน เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ทั้งนี้ จอร์แดนเป็นประเทศที่มีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากกว่า 500,000 คน
เลคเน้นย้ำว่า “สงครามครั้งนี้ต้องยุติลง เพื่อให้เด็กๆ สามารถกลับบ้านเกิดของตัวเอง กลับไปสร้างชีวิตร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ในที่ปลอดภัย ดังนั้น ปีที่สามของสงครามที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเด็กชาวซีเรีย ต้องเป็นปีสุดท้าย”