เอเอฟพี - บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของอุรุกวัย ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติละตินอเมริกาเพียงไม่กี่แห่งที่กำหนดให้การทำแท้งเป็นสิ่งถูกกฎหมายระบุวานนี้ (24 ก.พ.) ว่ามีสตรีทำแท้งไปแล้วทั้งสิ้น 6,676 กรณีในปีแรกที่อนุญาต
เลโอเนล บรีออซโซ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขอุรุกวัยแถลงว่า ตัวเลขดังกล่าวชี้ว่ามีผู้หญิงอายุระหว่าง 15 ถึง 44 ปีเข้ารับการทำแท้งเป็นสัดส่วน 9 ต่อ 1,000 คน
อัตรานี้รวบรวมจากข้อมูลของการทำแท้งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2012 ถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 ในประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบท แต่ประชากร 3.3 ล้านคนได้รับการศึกษาสูงแห่งนี้
ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติชี้ว่า อัตราการของอุรุกวัยยังน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับ แคนาดาเมื่อปี 2003 ซึ่งมีพลเมืองหญิงทำแท้ง 15.2 ต่อ 1,000 คน และจีน 24.2 ต่อ 1,000 คน เมื่อปี 1998 ขณะที่คิวบามี 24.8 ต่อ 1,000 คนเมื่อปี 2004
โฮเซ มูฮีกา ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายวัย 78 ปี ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ก็สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อเดือนตุลาคมปี 2012
อุรุกวัยอนุญาตให้ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้ และไม่เกิน 14 สัปดาห์ หากมารดามีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนในครรภ์มีรูปร่างพิการ หรือตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน
ทั้งนี้ สตรีที่ประสงค์จะเข้ารับการทำแท้ง จะได้รับคำแนะนำในเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และมีการเสนอทางเลือกในการมีบุตรโดยไม่ผ่านการตั้งครรภ์ เป็นต้นว่า การรับอุปการะเด็กกำพร้า แล้วให้เวลา 5 วันเพื่อตัดสินใจ
นอกจากอุรุกวัยแล้ว คิวบาเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งอนุญาตให้สตรีที่มีความประสงค์สามารถทำแท้งได้ถูกกฎหมาย ขณะที่กายอานา ซึ่งเคยเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ และเฟรนช์เกียนา จังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศสก็อนุญาตให้พลเมืองหญิงทำแท้งได้ในกรณีที่แพทย์พิจารณาว่าจำเป็น