xs
xsm
sm
md
lg

‘แมร์เคิล’ เยือน ‘ปารีส ’ถก ‘ออลลองด์’ ตั้ง ‘ข่ายสื่อสารยุโรป’ กันUSฉกข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี (ในภาพที่ถ่ายไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้)  ประกาศว่าระหว่างที่เธอไปเยือนปารีสวันพุธ (19) เธอจะหารือกับประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ถึงการสร้างเครือข่ายสื่อสารของยุโรปเองขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องส่งอีเมลและข้อมูลอื่นๆ ผ่านอเมริกา
เอเจนซีส์ – นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนีเปิดเผยว่า ระหว่างการไปเยือนปารีสของเธอกลางสัปดาห์นี้ เธอเตรียมหารือกับประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายสื่อสารของยุโรปเองขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องส่งอีเมลและข้อมูลอื่นๆ ผ่านอเมริกาโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกัน ทางด้านฝรั่งเศสก็แสดงท่าทีเห็นด้วยกับข้อเสนอของเบอร์ลิน ความเคลื่อนไหวของ 2 ชาติใหญ่ในยุโรปคราวนี้ บังเกิดขึ้นภายหลังข้อมูลที่เปิดโปงโดย “จอมแฉ” เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน แสดงให้เห็นว่าหน่วยข่าวกรองอเมริกันแอบทำการสอดแนมทางอีเล็กทรอนิกส์เหล่าชาติพันธมิตรอย่างกว้างขวาง

ในรายการพบประชาชนรายสัปดาห์ผ่านทางพ็อดแคสต์ (การเผยแพร่ไฟล์ภาพวิดีโอและเสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ต) นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลบอกว่า จะหยิบยกประเด็นนี้หารือกับประธานาธิบดีออลลองด์ ระหว่างเยือนปารีสวันพุธนี้ (19 ก.พ.)

หลังจากเมื่อปีที่แล้วสื่อต่างๆ เผยแพร่ข้อมูลลับที่ สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ลักลอบนำออกมา ซึ่งเปิดโปงโครงการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ขนาดมหึมาของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) โดยแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือของผู้นำชาติพันธมิตรอย่างแมร์เคิล ก็ยังถูกดักฟังมาหลายปี จึงได้สร้างความกังวลอย่างมากในยุโรป

ตั้งแต่นั้น แมร์เคิลพยายามผลักดันให้มีการเพิ่มความเข้มงวดในการปกป้องข้อมูลในยุโรป รวมถึงพยายามโน้มน้าวให้อเมริกาทำสัญญาที่จะ “ไม่สอดแนมกัน” แต่วอชิงตันยังคงไม่ยอมเห็นดีเห็นงามด้วย

แมร์เคิลวิจารณ์ในรายการทางพ็อดแคสต์ว่า ไม่เห็นด้วยที่บริษัทต่างๆ อย่างเช่น กูเกิลและเฟซบุ๊ก เข้าไปตั้งฐานทางด้านปฏิบัติการในประเทศที่มีการปกป้องข้อมูลในระดับต่ำ แล้วเสนอบริการในประเทศที่มีมาตรการการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเคร่งครัดอย่างเช่นเยอรมนี

“สิ่งที่เราจะพูดกันก็คือ ผู้ให้บริการของยุโรปเอง ที่จะนำเสนอการรักษาความปลอดภัยให้แก่พลเมืองของเรา เพื่อที่เราจะไม่ต้องส่งอีเมลและข้อมูลอื่นๆ ข้ามแอตแลนติก แต่ใช้เครือข่ายสื่อสารของเราเองภายในยุโรป”

อย่างไรก็ดี ผู้นำเมืองเบียร์ยอมรับว่า ยุโรปยังมีภารกิจอีกมากมายเกี่ยวกับขอบเขตการปกป้องข้อมูล

ทางด้านเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสในสำนักประธานาธิบดีของออลลองด์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ ยืนยันว่า ฝรั่งเศสกับเยอรมนีกำลังหารือกันเรื่องนี้ และปารีสนั้นเห็นด้วยกับข้อเสนอของเบอร์ลิน

ทั้งนี้ เรื่องการสอดแนมความเป็นส่วนตัว ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวมากในเยอรมนี เนื่องจากประชาชนในประเทศนี้มีประสบการณ์อันขมขื่นจากการถูกสอดแนมอย่างกว้างขวางโดยรัฐบาลในอดีต ทั้งในยุคนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และในอดีตเยอรมันตะวันออกที่เป็นคอมมิวนิสต์

เมื่อไม่นานมานี้ ฟิลิปป์ มิสเฟลเดอร์ โฆษกด้านนโยบายการต่างประเทศของพรรคคริสเตียน เดโมแครตของแมร์เคิล ระบุว่า การเปิดโปงเกี่ยวกับการสอดแนมของอเมริกาได้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับเบอร์ลินกลับตกต่ำถึงขีดสุด หลังจากเคยย่ำแย่มาแล้วจากการที่เยอรมนีไม่เห็นด้วยกับการที่อเมริกาบุกอิรักในปี 2003
กำลังโหลดความคิดเห็น