เอเอฟพี - อเมริการะบุ “จีน” เป็นแหล่งตลาดสินค้าปลอมที่ชุกชุมที่สุด ขณะที่ “เว็บไซต์ในยุโรป อเมริกาใต้ และแคนาดา” ขึ้นชื่อเรื่องการขายสินค้าปลอมออนไลน์ นอกจากนี้ “มาบุญครอง” และ “ห้างพันธุ์ทิพย์” ของไทยยังติดร่างแหไปด้วย โดยถูกชี้ชัดว่า ความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสองห้างนี้ “ด้อยประสิทธิภาพอย่างมาก”
ไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) แถลงเมื่อวันพุธ (12 ก.พ.) ในการเปิดตัว “รายชื่อตลาดฉาวโฉ่ด้านสินค้าปลอมหรือที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าอย่างรุนแรง” ประจำปี 2013 ว่า การจัดทำบัญชีรายชื่อนี้ มุ่งที่จะตอกย้ำให้เห็นตลาดซึ่งเป็นอันตรายต่อธุรกิจและตำแหน่งงานของอเมริกา จากพฤติการณ์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯเลือกตลาดเข้าอยู่ในบัญชีนี้ โดยพิจารณาจาก “ความฉาวโฉ่” ทั้งนี้ ตลาดเหล่านี้ “เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าและการละเมิดลิขสิทธิ์ในระดับโลก อีกทั้งขนาดขอบเขตและความนิยมในตลาดเหล่านี้ก็อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯ และผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญารายอื่นๆ”
อย่างไรก็ตาม รายชื่อตลาดชื่อฉาวด้านสินค้าปลอมนี้ไม่ได้สะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย โดยที่ในเรื่องหลังนี้ ยูเอสทีอาร์มีการจัดทำรายงานประจำปีอีกชุดหนึ่งต่างหาก ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 301 (พิเศษ) ของสหรัฐฯ ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
ยูเอสทีอาร์ บอกว่า รายชื่อตลาดฉาวโฉ่นี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้อเมริกาและรัฐบาลของประเทศต่างๆ จัดลำดับความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิทางปัญญา พร้อมกับย้ำว่า ตลาดเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความสูญเสียให้แก่เศรษฐกิจและคนงานอเมริกัน แต่ผู้บริโภคยังอาจได้รับผลกระทบจากสินค้าปลอม เช่น ยา, ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และชิ้นส่วนรถยนต์
สำหรับ “ตลาดฉาวโฉ่” ในรายชื่อของยูเอสทีอาร์นี้ ในส่วนที่เป็นตลาดทางกายภาพ มีสถานที่ตั้งและมีสินค้าวางขายอยู่จริงๆ พวกตลาดในประเทศจีนถูกระบุว่าเป็นแหล่งสินค้าปลอมสำคัญ เป็นต้นว่า “ซิลค์ มาร์เก็ต” ในปักกิ่ง และ “ศูนย์ค้าส่งสิ่งทอ” ในกวางโจว ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯชี้ว่า เป็นผู้สนับสนุนสินค้าปลอมรายใหญ่ในจีนและทั่วโลก
เช่นเดียวกับ “บายนาว พีซี มอลล์” เชนห้างขายคอมพิวเตอร์พีซีที่มีสาขา 22 แห่งทั่วแดนมังกร ซึ่งเป็นแหล่งหนัง เกม และซอฟต์แวร์เถื่อน
ขณะเดียวกัน ตลาดหลายแห่งทั่วเมืองไทยติดร่างแหในรายชื่อตลาดฉาวโฉ่ของยูเอสทีอาร์ด้วยเช่นกัน ในจำนวนนี้รวมถึง “ห้างมาบุญครอง” และ “พันธุ์ทิพย์ พลาซา” ซึ่งรายงานระบุว่า ความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสองห้างนี้ “ด้อยประสิทธิภาพอย่างมาก”
ที่อินเดีย มีตลาด 6 แห่งติดอยู่ในบัญชีของยูเอสทีอาร์ โดย “เนห์รู เพลซ” ในนิวเดลีเป็น “ตัวอย่างที่โดดเด่น”เนื่องจากมีการขายซอฟต์แวร์ ผลิตภัณฑ์ความบันเทิง และสินค้าปลอมมากมาย
รายงานของยูเอสทีอาร์ยังระบุว่า “เซเว่นธ์ กิโลเมตร มาร์เก็ต” ในเมืองโอเดสซา, ยูเครน และ “ลา ซาลาดา”ในกรุงบัวโนสไอเรส, อาร์เจนตินา เป็นตลาดที่ขายสินค้าปลอมอย่างโจ๋งครึ่ม โดยเฉพาะลา ซาลาดานั้นยังเป็นที่รู้จักอย่างดีขนาดที่มีรถประจำทางรับส่งผู้นิยมสินค้าปลอมจากปารากวัยและอุรุกวัยไปยังตลาดนี้โดยเฉพาะ
ยูเอสทีอาร์ยังกล่าวถึงตลาดออนไลน์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ได้แก่ “เดอะ ไพเรต เบย์” ในสวีเดน ที่ช่วยผู้ใช้ดาวน์โหลดเนื้อหาที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต, “คิกแอสทอร์เรนต์“ ในแคนาดาที่ให้บริการแบบเดียวกัน และ “บิตทอร์เรนต์ แอ็กกรีเกเตอร์” ที่มีรายงานว่ามีฐานดำเนินการในแคนาดาหรือฟินแลนด์
รายงานตั้งข้อสังเกตว่า ทางการอังกฤษเคยดำเนินการกับ Mp3skull.com ไซต์ยอดนิยมสำหรับการดาวน์โหลดและสตรีมเพลง และโฮสต์ไฟล์วิดีโอผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า ประเทศคู่ค้าของอเมริกาควรให้ความสนใจกับตลาดที่มีรายชื่อในรายงานของยูเอสทีอาร์โดยด่วน