xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรเฝ้าระวังชี้ “ปากีสถาน” ติดโผ หนึ่งในชาติที่นักข่าวต้องเสี่ยงภัยอันตรายมากที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดาผู้สื่อข่าวชาวปากีสถานเข้าร่วมในการประท้วงต่อต้านการสังหารสื่อมวลชน ที่เมืองลาฮอร์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2014
เอเอฟพี – ปากีสถานยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักข่าว องค์กรเฝ้าระวังด้านสื่อ “ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” (อาร์เอสเอฟ) ระบุในรายงานประจำปีที่นำออกเผยแพร่วานนี้ (11 ก.พ.) โดยมีบาลูชิสถาน แคว้นซึ่งมีเหตุไม่สงบปะทุขึ้นอยู่บ่อยครั้งเป็นจุดศูนย์กลางของความรุนแรง

รายงานฉบับนี้ชี้ว่า เมื่อปี 2013 มีนักข่าวเสียชีวิตในหน้าที่ทั้งหมด 7 ราย ทั้งยังระบุว่าเป็นเพราะรัฐบาลปากีสถานไม่เต็มใจจะให้ความยุติธรรม

นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยด้วยว่า มีนักข่าว 10 รายถูกสังหารในซีเรีย 8 รายในฟิลิปปินส์ และอีก 7 รายในโซมาเลีย

ปากีสถานถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 158 จากทั้งหมด 180 ประเทศในดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชน โดยรายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตว่า “รัฐบาลไม่มีอำนาจในการควบคุมกลุ่มตอลิบานและสถาบันกองทัพ จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตการณ์นานาชาติจำนวนมากเรียกว่า “รัฐซ้อนรัฐ”
เจ้าหน้าที่ตำรวจปากีสถานกำลังตรวจคราบเลือดบนพื้นโรงภาพพยนตร์แห่งหนึ่งในแคว้นเปชวาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนร้ายขว้างระเบิดเมื่อวันอังคาร (11 ก.พ.)
มีผู้สื่อข่าว 4 คนเสียชีวิตในเแคว้นบาลูชิสถาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ซึ่งบอบช้ำจากเหตุรุนแรงฝีมือกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ และเหตุไม่สงบที่เกิดขึ้นมานาน โดยฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมุ่งแบ่งแยกดินแดน

ในบรรดาผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตนั้นรวมถึง อิมราน ชัยคห์ ช่างภาพ และซะอิฟ อูร์ เรห์มาน เพื่อนร่วมงานของเขา ภายหลังที่ทั้งสองรุดไปทำข่าวในที่เกิดเหตุระเบิด ในเกตตา เมืองเอกของแคว้นนี้ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2013

ชายทั้งสองคนจบชีวิตลงเมื่อระเบิดระลอกสองปะทุขึ้น หลังจากระเบิดลูกแรกทำงานไปได้ 10 นาที

ชาเซีย บาโน ภรรยาหม้ายของชัยคห์ กล่าวกับเอเอฟพีว่า ครอบครัวของเธอต้องเสี่ยงภัยอันตรายอยู่ตลอดเวลา แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นทำงานนี้ต่อไป

“เขาไม่กลัว ทั้งยังกล่าวว่ามันเป็นงานของเรา เราต้องทำ ฉันเคยบังคับให้เขาลาออกจากอาชีพนักข่าวแล้ว แต่เขาสวนกลับมาว่าแล้วจะให้เขาทำอะไรถ้าลาออก”

ขณะที่ชัยคห์ และเรห์มานต้องจบชีวิตในเหตุรุนแรงฝีมือกลุ่มติดอาวุธ ผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ก็ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลหรือหน่วยข่าวกรอง

รีอัซ บาลอช นักข่าวชาวบาลูชิสถานผู้เคยเปิดโปงผู้มีอิทธิพลที่หนุนหลังรัฐบาล ซึ่งพัวพันกับกระบวนการโจรกรรมรถยนต์บอกเอเอฟพีว่า เขาเคยถูกลักพาตัวไปทรมานและขังไว้เกือบ 60 วัน

“พวกเขานำตัวผมไปไว้บนเทือกเขา ที่ที่ผมถูกทรมานอย่างหนัก และถามผมว่าทำไมถึงเขียนข่าวอย่างนั้น”

ทั้งนี้ ในทางหลักการแล้ว รัฐธรรมนูญปากีสถานคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็พบว่าสื่อของรัฐอิสลามแห่งนี้กำลังก้าวหน้าไปอย่างมาก

แม้กระนั้น ประเด็นบางประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพปากีสถาน ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมดในประเทศและหน่วยงานสายลับนั้นยังคงเป็นสิ่งต้องห้าม

เมื่อปีที่แล้ว ปากีสถานถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 159 จากทั้งหมด 179 ประเทศ ในดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชน โดยมีผู้สื่อข่าวถูกสังหารไปทั้งหมด 9 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น