xs
xsm
sm
md
lg

รายงานแฉ “กองทัพสหรัฐฯ” ให้ท้าย “ทหาร” ลงโทษแค่สถานเบา แม้ก่อคดีละเมิดทางเพศร้ายแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้มซึ่งถ่ายไว้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2008 แสดงให้เห็นผู้ประท้วงถือแผ่นป้ายเขียนข้อความแสดงความโกรธเกรี้ยว ระหว่างการชุมนุมคัดค้านเหตุการณ์ที่ทหารอเมริกันนายหนึ่งในเกาะโอกินาวา ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ข่มขืนเด็กหญิงอายุ 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้น ทั้งนี้จากการทำข่าวสืบสวนของสำนักข่าวเอพีพบว่า กองทัพสหรัฐฯย่อหย่อนและปล่อยปละในการลงโทษทหารของตนซึ่งก่อเหตุละเมิดทางเพศในแดนอาทิตย์อุทัย
เอพี – พบทหารในฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่นที่ก่อเหตุในคดีล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่ไม่เคยชดใช้กรรมในคุก แค่ถูกตำหนิ ปรับ ลดตำแหน่ง ห้ามออกนอกฐานทัพ หรือย้ายเท่านั้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้สนับสนุนความพยายามของสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งที่กำลังเร่งผลักดันให้มีการปฏิรูประบบกฎหมายในกองทัพสหรัฐฯ

จากเอกสารการตรวจสอบภายในของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) บันทึกกว่า 1,000 รายการที่สำนักข่าวเอพีได้รับมาโดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพข่าวสาร ได้ให้ภาพที่น่ากังวลเกี่ยวกับวิธีที่นายทหารอาวุโสของสหรัฐฯ ดำเนินคดีและลงโทษทหารที่ก่ออาชญากรรมทางเพศ โดยหลายคดีรุนแรงแต่กลับถูกตั้งข้อหาสถานเบา ตัวอย่างเช่นในคดีข่มขืน 2 คดี ผู้บังคับบัญชาเพิกเฉยต่อคำแนะนำของศาลทหารและยกเลิกข้อกล่าวหา

แม้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเห็นพ้องว่า มีการก่ออาชญากรรม แต่ผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่กลับไม่ต้องชดใช้ความผิด โดยในบรรดาทหาร 244 คนในรายงานเหล่านี้ มีเพียง 3 คนที่ถูกจำคุก

การวิเคราะห์คดีล่วงละเมิดทางเพศที่มีการรายงานไว้ในช่วงระหว่างปี 2005 ถึงต้นปี 2013 แสดงให้เห็นรูปแบบการตัดสิน ซึ่งเป็นไปอย่างไม่มีความคงเส้นคงวาและไม่ต่อเนื่อง ดังนี้:

-เหล่านาวิกโยธินมีแนวโน้มสูงกว่าเหล่าทัพอื่นๆ ในการส่งทหารผู้กระทำผิดเข้าคุก โดยมี 53 คดีจาก 270 คดีที่ถูกลงโทษจำคุก ในทางตรงข้าม ทหารสังกัดกองทัพเรือ (นาวิกโยธินอเมริกันในปัจจุบันเป็นเหล่าทัพอิสระ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกองทัพเรือ) ที่ทำผิดกว่า 70 คดีจาก 203 คดี ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารหรือถูกลงโทษในทางใดทางหนึ่ง ทว่า มีเพียง 15 คดีที่ถูกจำคุก

-กองทัพอากาศเป็นเหล่าทัพมีการผ่อนผันมากที่สุด โดยในคดีล่วงละเมิดทางเพศ 124 คดี ปรากฏว่าผู้กระทำผิด 21 คนถูกลงโทษด้วยการตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

-เหยื่อผู้ถูกละเมิดมีแนวโน้มปฏิเสธร่วมมือในการสอบสวนหรือกลับคำให้การมากขึ้นเรื่อยๆ บ่งชี้ถึงการเสื่อมความเชื่อมั่นในระบบ เมื่อปี 2006 หน่วยสืบสวนอาชญากรรมกองทัพเรือรายงานว่า มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น 13 กรณี และเพิ่มเป็น 28 กรณีในปี 2012

ใน 2 คดี ที่พิจารณาตัดสินโดยกองบินนาวิกโยธินที่ 1 ผู้กล่าวหาต่างให้การว่า ถูกล่วงละเมิดทางเพศหลังจากเมาสุรา และทั้งคู่ต่างมีหลักฐานยืนยันคำให้การของพวกตน แต่ปรากฏว่า จำเลยในคดีหนึ่งถูกตัดสินจำคุก 6 ปี แต่ในอีกคดีหนึ่งกลับถูกตัดสินให้กักบริเวณภายในฐานทัพ 30 วันเท่านั้น
ภาพจากแฟ้มที่ถ่ายไว้ในวันที่ 25 เมษายน 2013 แสดงให้เห็น พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยกับทหารอเมริกันที่ประจำอยู่ในฐานทัพอากาศโยโกตะ นอกกรุงโตเกียว ทั้งนี้จากการทำข่าวสืบสวนของสำนักข่าวเอพีพบว่า กองทัพสหรัฐฯย่อหย่อนและปล่อยปละในการลงโทษทหารของตนซึ่งก่อเหตุละเมิดทางเพศในแดนอาทิตย์อุทัย
รูปแบบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำกองทัพยังจะต้องทำงานอย่างหนักหน่วงแค่ไหน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาคดีล่วงละเมิดทางเพศที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที นอกจากนั้นมันยังสนับสนุนความพยายามของสมาชิกรัฐสภากลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องการลิดรอนอำนาจของนายทหารอาวุโสในการวินิจฉัยว่าคดีร้ายแรง ซึ่งรวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลหรือไม่

คริสเตน กิลลิแบรนด์ วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตจากนิวยอร์ก และเป็นประธานคณะอนุกรรมการบุคลาการ ในคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภา เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการใช้กฎหมายในกองทัพ

น.อ.อลัน เมตซ์เลอร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและแก้ปัญหาการล่วงละเมิดของเพนตากอน ยืนยันว่า กระทรวงยอมรับว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และกฎหมายทางทหารที่ได้รับการแก้ไขแล้ว กำลังสร้างวัฒนธรรมที่จะทำให้เหยื่อเกิดความเชื่อมั่นว่า ข้อกล่าวหาของตนจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง และผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษ

จากข้อมูลของเพนตากอน จำนวนคดีล่วงละเมิดทางเพศที่มีการพิจารณาไต่สวนคดีในศาลทหาร ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 42% ในปี 2009 เป็น 68% ในปี 2012 และในปี 2012 มีทหาร 238 คนถูกตัดสินว่าผิด และ 74% ถูกจำคุก

อย่างไรก็ดี แนวโน้มดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับพวกหน่วยทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ในญี่ปุ่น โดยตามข้อมูลที่เอพีได้รับมา ในบรรดาข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศ 473 คดีในกองทัพเรือและเหล่านาวิกโยธิน มีเพียง 116 คดีหรือ 24% ที่จบลงในศาลทหาร สำหรับกองทัพเรือนั้น มีเพียงคดีเดียวในปี 2012 ที่มีการดำเนินคดีในศาลทหาร ขณะที่ 13 คดี ผู้บังคับบัญชาลงโทษโดยไม่ผ่านกระบวนการศาล

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายที่กิลลิแบรนด์คาดว่าจะส่งให้รัฐสภาพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ จะให้ยกเลิกอำนาจของนายทหารอาวุโสในการตัดสินใจว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีข้อกล่าวหาอาญาร้ายแรงหรือไม่ และโอนอำนาจความรับผิดชอบดังกล่าวไปให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายด้านการพิจารณาคดี ซึ่งมีประสบการณ์ในการฟ้องร้อง

ผู้นำทหารอาวุโสบางคนคัดค้านร่างกฎหมายใหม่นี้ เช่นเดียวกับวุฒิสมาชิกบางคน อาทิ ลินด์ซีย์ เกรแฮม สังกัดพรรครีพับลิกันจากเซาท์แคโรไลนา ที่เห็นว่า แนวทางดังกล่าวไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับเป็นการลิดรอนระบบตุลาการทหารในคดีล่วงละเมิดทางเพศ และขจัดความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาในการแก้ไขปัญหานี้

แต่กิลลิแบรนด์และผู้สนับสนุนแย้งว่า การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่จำเป็นสำหรับกองทัพ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากผู้บังคับบัญชายังคงมีบทบาทในระบบกฎหมายเช่นปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น