เอเจนซีส์ - ยูเครนระทึก ฝ่ายค้านยื่นคำขาดรัฐบาลลาออกภายในวันพฤหัสบดี (23 ม.ค.) เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด ลั่นตายเป็นตายพร้อมเดินหน้าชนกับตำรวจ ถึงแม้ในเวลาต่อมาผู้นำฝ่ายค้านกับกองกำลังความมั่นคงสามารถตกลงกันได้ว่าจะหยุดปะทะกันเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ขณะพวกเขาไปเจรจากับฝ่ายรัฐบาล สำหรับยอดผู้เสียชีวิตนั้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 5 รายแล้ว ส่วนใหญ่ถูกกระสุนเด็ดชีพ
วิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวีเวต ซึ่งผันตัวเองมาเป็นหนึ่งในผู้นำฝ่ายค้าน ประสบความสำเร็จในการเป็นตัวกลางให้เกิดข้อตกลงหยุดปะทะชั่วคราว หลังจากเจรจากับทั้งพวกผู้ประท้วงหัวรุนแรงและกองกำลังความมั่นคงที่อยู่ในชุดเกราะที่บริเวณแนวหน้าของการปะทะกัน โดยชี้ว่าควรที่จะมีการหยุดพักขณะที่เขาเปิดการเจรจากับประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช อีกรอบหนึ่งในตอนบ่ายวันพฤหัสบดี
“ก่อน 2 ทุ่ม (วันพฤหัสบดีที่ 23 ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับตี 1 วันศุกร์ที่ 24 ตามเวลาเมืองไทย) ผมจะกลับมาหาพวกคุณ และแจ้งให้พวกคุณทราบว่าผลการเจรจาเป็นอย่างไร” สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ยูเครน อ้างคำพูดของคลิตช์โก ที่พูดกับพวกผู้ประท้วง “ขอให้รักษาเครื่องกีดขวางเอาไว้ แต่ขอให้อยู่ในความสงบ จนกว่าการเจรจาจะยุติ”
พวกผู้ประท้วงและและตำรวจยูเครนเผชิญหน้าตึงเครียดตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี หลังจากก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน บริเวณใจกลางกรุงเคียฟแปรสภาพเป็นเขตสงคราม โดยตำรวจใช้แก๊สน้ำตา ระเบิดแสง กระสุนยาง รวมทั้งฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วงทั้งที่อุณหภูมิเย็นเยือกติดลบ ส่วนประชาชนสู้ด้วยระเบิดขวดและก้อนหิน
ในตอนเช้าวันพฤหัสบดี ตำรวจปราบจลาจล เบอร์คุต ตรึงกำลังบนถนนกรูเชฟสกี้ในกรุงเคียฟ ขณะที่ผู้ประท้วงหลายร้อยคนเผชิญหน้าอยู่ในฝั่งของตนหลังแนวเครื่องกีดขวาง โดยมีรายงานว่า มีการปะทะกันประปราย แต่ถือว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับวันพุธ (22)
โอเล็ก มูซีย์ ผู้ประสานงานหน่วยแพทย์ที่ดูแลช่วยเหลือผู้ชุมนุม เปิดเผยกับสถานีวิทยุโฮรมาดสกีว่า การปะทะในวันพุธมีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บราว 300 คน
ขณะที่เว็บไซต์ข่าว ยูเครนสกา ปราฟดารายงานว่า เหยื่อ 4 ใน 5 เสียชีวิตจากบาดแผลถูกยิง นอกจากนี้ยังมีข่าวหลายกระแสระบุว่า ตำรวจอุ้มนักเคลื่อนไหวหลายคนหายไร้ร่องรอย แพทย์อาสาและผู้สื่อข่าวหลายคนยังเล่าว่า ตำรวจปราบจลาจลทุบตีและยิงผู้ประท้วง
การปะทะที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดในช่วง 2 เดือนนับจากที่ชาวยูเครนชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ไม่ยอมลงนามข้อตกลงกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) ภายใต้การกดดันจากรัสเซีย
ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งรวมถึง คลิตช์โกได้หารือกับประธานาธิบดียานูโควิช ในวันพุธ แต่ไร้ความคืบหน้าใดๆ และมีกำหนดเจรจากันอีกครั้งในวันพฤหัสบดี โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญคือ รัฐบาลลาออกและจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด รวมทั้งยกเลิกกฎหมายฉบับใหม่ที่กีดกันการประท้วงเกือบทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นต้นเหตุการประท้วงรุนแรงครั้งล่าสุด
ขณะเดียวกัน เมื่อคืนวันพุธ อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ฟาเธอร์แลนด์ เตือนให้ผู้ประท้วงในจตุรัสเอกราชอดกลั้นเพื่อให้เวลายานูโควิช 24 ชั่วโมงในการเห็นพ้องกับทางออกอย่างสันติด้วยการลาออก ประกาศหากรัฐบาลไม่ยอมลาออก ตนพร้อมสละชีวิตนำผู้ประท้วงต่อสู้กับตำรวจ
ทางด้านคลิตช์โกสำทับว่า ผู้ประท้วงจะเข้าโจมตี หากยานูโควิชไม่ยอมจำนนภายในเส้นตายที่กำหนด
อินนา โบโกสลอฟสกา อดีตสมาชิกรัฐสภาลูกพรรคของยานูโควิชที่แปรพักตร์มาอยู่ข้างผู้ชุมนุม ประกาศว่า รัฐบาลใกล้ถึงจุดจบเต็มที
ในคืนวันพุธ ผู้ประท้วงช่วยกันเสริมแนวกีดขวางด้วยถุงทรายอัดหิมะ และหน้าแนวกีดขวางคละคลุ้งด้วยควันจากการเผายางรถยนต์
ขณะเดียวกัน ผู้ประท้วงนับหมื่นอัดแน่นในจัตุรัสเอกราช โดยหวังว่า การที่ผู้คนมารวมตัวกันมากๆ จะทำให้ตำรวจเลิกล้มความพยายามเข้าสลายฝูงชน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้ชาวยูเครนจำนวนมากที่ไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์นี้มาก่อน แม้ระหว่างการปฏิวัติสีส้มเมื่อปี 2004 ที่ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
โฆเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประณามการใช้ความรุนแรงในยูเครน และเตือนว่า จะประเมินมาตรการที่เป็นไปได้เพื่อลงโทษรัฐบาลยูเครน
เช่นเดียวกัน อเมริกาเพิกถอนวีซ่าเจ้าหน้าที่ยูเครนหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการปรามปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านมา และขู่ว่า จะมีมาตรการลงโทษเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี วอชิงตันยังประณามผู้ประท้วงปีกขวาที่ใช้ความรุนแรงเมื่อวันพุธ
ผิดกับรัสเซียที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ กริกอรี คาราซิน กล่าวหาว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของฝ่ายค้านยูเครนและตะวันตกที่เข้าไปแทรกแซง
กระนั้น ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ให้สัมภาษณ์ที่มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์คอมโซโมลสกายา ปราฟดาเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มอสโกจะไม่แทรกแซงการประท้วง และเชื่อว่า ผู้นำยูเครนสามารถหาทางคลี่คลายวิกฤตได้