ดอยช์ เวเลย์ - สื่อดังของเยอรมนีชี้รัฐบาลไทยติดกับดักของตนเอง จนอาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ออกไป หลังมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเหตุโจมตีด้วยระเบิดต่อเหล่าผู้ประท้วงที่ปักหลักชุมนุมกันในเมืองหลวงกำลังทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลุกลามบานปลาย พร้อมอ้างนักวิเคราะห์แนะทางสว่างแก่ “ยิ่งลักษณ์” ลาออกจากนายกรัฐมนตรีเปิดทางปฏิรูปเพื่อความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
เว็บไซต์ของดอยช์ เวเลย์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติเยอรมนี รายงานบทความเรื่อง Will the Thailand election be postponed? ระบุว่า ดูเหมือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย มีความประสงค์อย่างแรงกล้าต่อการเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แม้ว่าเกิดเหตุโจมตีนองเลือดด้วยระเบิดต่อผู้ประท้วงในกรุงเทพฯ 2 ครั้งในวันศุกร์ (17) และวันอาทิตย์ (19) จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บรวมเกือบ 70 คน
รายงานข่าวของดอยช์ เวเลย์ เผยต่อว่า ในวันจันทร์ (20) น.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธตอบคำถามว่าจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเป็นไปได้ที่จะเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ทั้งนี้แม้ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ นานา แต่น้องสาวของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังยืนกรานว่าการลงคะแนนโหวตคือแนวทางที่ดีสุดสำหรับคลี่คลายวิกฤตการเมืองระลอกล่าสุดของประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานีวิทยุโทรทัศน์เยอรมนีแห่งนี้รายงานว่า ด้วยศึกเลือกตั้งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ ความรุนแรงดังกล่าวได้โหมกระพือความกังวลต่อความปลอดภัยของผู้ออกมาใช้สิทธิใช้เสียง ที่ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำรับประกันได้ “รัฐบาลกำลังเดินเข้าสู่กับดักของตนเอง” ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ให้สัมภาษณ์กับดอยช์ เวเลย์ “ถ้าประชาชนไม่สามารถออกไปยังหน่วยเลือกตั้ง มันจะเป็นตัวทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้ง”
ดร.ปณิธานให้ความเห็นกับสื่อเมืองเบียร์ต่อไปว่า ทุกฝ่ายในทางตันทางการเมืองของไทยจำเป็นต้องมีที่ว่างสำหรับหายใจและเรียกร้องนายกรัฐมนตรีเลื่อนการเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสสำหรับเจรจารอบใหม่กับฝ่ายต่อต้านของเธอ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้พบกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและพรรคฝ่ายค้านเล็กๆ แต่ฝ่ายค้านหลักไม่ได้เข้าร่วม และก็ไม่ได้ข้อสรุปข้อตกลงใดๆ แม้มีความกังวลต่อความสงบเรียบร้อยในวันเลือกตั้ง “โอกาสเกิดความรุนแรง มีความเป็นไปได้จริง” คิม แม็กคีย์ ผู้แทนมูลนิธิเอเชีย ประเทศไทยกล่าว “เราอยู่ในสถานการณ์ที่อาจนำมาซึ่งความปั่นป่วนที่อาจลุกลามล่วงเลยวันเลือกตั้งไปก็เป็นได้”
แม็กคีย์ยังแสดงความคิดเห็นกับดอยช์ เวเลย์ ด้วยว่า การคว่ำบาตรของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยิ่งทำให้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดต่อไปลดน้อยลงไปด้วย “พรรคการเมืองของทุกฝ่ายควรได้ข้อตกลงร่วมกันบางอย่างเกี่ยวกับภาวะที่ทางฝ่ายค้านยอมเข้าร่วมชิงชัยในการเลือกตั้งด้วย ซึ่งผมคิดว่าในกรณีนี้มันควรจะเป็นวาระการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
สื่อมวลชนชื่อดังของเยอรมนีรายงานต่อว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุม ประกาศจะระงับประชาธิปไตยที่ด่างพร้อยของไทยและแต่งตั้งสภาประชาชนเข้ามาบริการประเทศ ด้วยกล่าวหาระบอบทักษิณมีการคอร์รัปชันและใช้นโยบายประชานิยมอย่างสุดโต่ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ไม่สามารถทำได้ในรัฐสภาซึ่งถูกครอบงำ
ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลก็เสนอแนวทางปฏิรูปของตนเองเช่นกัน โดยสภาปฏิรูปของยิ่งลักษณ์จะทำงานร่วมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยสันนิษฐานว่าสภาแห่งนี้น่าจะมาจากบุคคลสำคัญๆจากหลายฝ่าย ทั้งทหาร ข้าราชการและนักธุรกิจ แต่เหล่านักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่าบุคคลที่เข้าร่วมสภาปฏิรูปควรเป็นตัวแทนทั้งมดของสังคมไทยมากกว่า
ผู้แทนมูลนิธิเอเชียบอกกับดอยช์ เวเลย์ว่า “ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นต่างกันแค่เวลาและใครควรเป็นผู้ผลักดันกระบวนการปฏิรูปเท่านั้น แต่แนวคิดของการขยายสัดส่วนของตัวแทนและสถาบันอิสระต่างมีความเห็นพ้องกันในกลุ่มการเมืองที่เห็นต่าง” ส่วน ดร.ปณิธานเสริมว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังพอมีเวลาสำหรับการเป็นผู้นำกาารปฏิรูปครั้งใหญ่นี้ “ถ้ารัฐบาลตั้งรัฐบาลรักษาการที่มีความเป็นกลางเข้ามาและเลือกอยู่วงนอกระหว่างช่วงเวลาปฏิรูป ไม่เพียงแค่รัฐบาลจะอยู่รอด แต่พวกเขาอาจได้รับอาณัติอย่างล้นหลามเมื่อเวลามาถึง” เขากล่าว