xs
xsm
sm
md
lg

ชาวตุรกีแห่งประท้วงขับไล่นายกฯ หลังเกิดกรณี “รับสินบน” ฉาว - รมต.ลาออก 3 คนรวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – ตำรวจตุรกีเมื่อคืนวานนี้ (27 ธ.ค.) ได้เข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี เรเซป ตอยยิป เออร์โดแกน ลงจากตำแหน่งหลังเกิดกรณีทุจริตรับสินบนครั้งอื้อฉาว ซึ่งทำให้รัฐบาลของเขาตกอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย และกระตุ้นให้มีรัฐมนตรีบางคนที่เป็นสมาชิกพรรคของเขาขอลาออก อีกทั้งส่งผลให้ค่าเงินของประเทศดิ่งฮวบลงเป็นประวัติการณ์

ตำรวจได้เข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลจำนวนหลายพันคนทั้งในกรุงอังการาและนครอิสตันบูล ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

ที่นครอิสตันบูล เกิดเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อผู้ประท้วงบางส่วนขว้างดอกไม้ไฟใส่ตำรวจซึ่งฉีดน้ำ แรงดันสูง ยิงกระสุนพลาสติก และแก๊สน้ำตาเป็นการตอบโต้ ทำให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน ช่างภาพสำนักข่าวเอเอฟพีระบุ

อัยการในพื้นที่แจ้งว่า มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 31 คน

แม้ว่าไม่กี่ชั่วโมงต่อมาสถานการณ์จะเริ่มกลับสู่ภาวะสงบ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงตรึงกำลังในพื้นที่

ส่วนที่กรุงอังการา กลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนซึ่งมารวมตัวกัน ณ จัตุรัสใจกลางเมืองก็ถูกตำรวจปราบจลาจลขับออกจากพื้นที่เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการประท้วงอยู่นั้น ผู้ชุมนุมบางคนชูกล่องใส่รองเท้าขึ้นมาเพื่อสื่อถึงกล่องรองเท้าซุกซ่อนเงิน หลายล้านดอลลาร์หลายกล่อง ซึ่งตรวจพบที่บ้านซีอีโอธนาคารฮัลค์แบงก์ของทางการตุรกี หนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่ารับสินบน

แม้ว่าจะเกิดความวุ่นวายและความสับสนอลหม่านทางการเมืองมาหลายวัน เนื่องจากกรณีคอร์รัปชันครั้งอื้อฉาว เออร์โดแกนยังคงยืนกรานว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็น “การรณรงค์ใส่ร้ายป้ายสี” ซึ่งมีกองกำลังนานาชาติที่แฝงตัวอยู่ในเงามืดคอยบงการ

“ผู้ที่กล่าวว่าการกระทำนี้เป็นการสอบสวนทุจริตก็คือพวกที่ทุจริตเสียเอง” เขากล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนวานนี้ (27) ขณะเดินทางไปถึงนครอิสตันบูล หลังกลับจากการปราศรัยหาเสียงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ เออร์โดแกนยังได้กล่าวประณามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลาออกจากพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (เอเคพี) ที่เป็นพรรครัฐบาลของเขา เนื่องจากกรณีอื้อฉาวนี้ โดยระบุว่าพวกเขา “ทรยศพวกเรามาตลอดเวลา”

***

ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน (27) มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลาออกจากพรรคเอเคพีอีก 3 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ เออร์ตูกรุล กูเนย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมผู้ซึ่งกล่าวว่า พรรคนี้กำลังถูกชี้นำด้วย “ความเย่อหยิ่ง”

ผลกระทบต่อเนื่องบานปลายทางการเมืองเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ถือเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่นายกรัฐมนตรีผู้ที่คอยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตเรื่อยมาถึง 10 ปี

ค่าเงินตุรกีได้อ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 2.1492 ลีราต่อหนึ่งดอลลาร์ ตอนปิดตลาดวันศุกร์ (27) ซึ่งถือว่าดิ่งฮวบลงต่ำสุดหลังลดลงต่อเนื่องมานานหลายวัน ขณะที่ตลาดหุ้นของอิสตันบูลก็ปรับตัวลดลง 1.04 เปอร์เซ็นต์ มาปิดที่ 63,855.22 จุด

แม้ว่าเออร์โดแกนจะพยายามที่จะควบคุมกรณีอื้อฉาวไม่ให้บานปลายออกไป แต่ก็แทบจะไม่มีผลใดๆ เลย

เมื่อวันพุธ (25) เออร์โดแกนได้ปรับคณะรัฐมนตรีเกือบครึ่งคณะ หลังรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมลาออก โดยที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทำแบบเดียวกัน

นอกจากนี้ เออร์โดแกนยังได้ปลดตำรวจระดับอาวุโสหลายสิบคน อีกทั้งออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของตน ทราบก่อนจะดำเนินการสอบสวนใดๆ ก็ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการแผ่นดิน

เมื่อวันพฤหัสบดี (26) อัยการคนหนึ่งกล่าวว่า บรรดาผู้บังคับบัญชาตำรวจและพนักงานอัยการกำลังขัดขวางไม่ให้มีการสืบ สวนเพิ่มเติม ด้วยการปฏิเสธไม่ยอมออกหมายจับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (27) ศาลสูงสุดของตุรกีได้ขัดขวางคำสั่งของรัฐบาล โดยระบุว่าจะก่อให้เกิด “ความเสียหายใหญ่หลวงจนแก้ไขไม่ได้”

ทั้งนี้ เบื้องหลังของวิกฤตคราวนี้คือการต่อสู้ชิงอำนาจกันระหว่างรัฐบาลเออร์โดแกน กับขบวนการอิสลามที่ทรงอิทธิพล ภายใต้การนำของอิหม่าม เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน ที่เคยเป็นพันธมิตรของเออร์โดแกนและปัจจุบันมีฐานในสหรัฐฯ โดยคนจำนวนมากเชื่อว่ากูเลนเป็นมีอำนาจอยู่มากในวงการตำรวจ และตุลาการตุรกี

“การปรับคณะรัฐมนตรีอาจช่วยจำกัดไฟไม่ให้ลุกลามในตอนนี้ แต่จะไม่สามารถดับไฟได้” คอลัมนิสต์ ฮูเซยิน กูเลอร์เซ ระบุใน “ซอมัน” หนังสือพิมพ์รายวันที่สนับสนุนกูเลน

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว เออร์โดแกนได้กล่าวหาว่า “เอกอัครราชทูตบางคนมีส่วนพัวพันในการกระทำยั่วยุเหล่านี้” และ “เราไม่จำเป็นต้องมีพวกคุณอยู่ในประเทศของเรา” ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นการกล่าวถึงเอกอัครราชทูต ฟรานซิส ริชชิอาร์โดเน แห่งสหรัฐฯ โดยอ้อม

ฝ่ายบรรดาหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลตุรกีต่างโจมตีริชชาอาร์โดเนอย่างโจ่งแจ้ง โดยระบุว่า “ออกจากประเทศนี้ไปซะ”

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้วิพากษ์วิจารณ์ “การโจมตีโดยไม่มีมูลความจริง” เช่นนี้เมื่อวันศุกร์ (27) อีกทั้งกล่าวว่าได้แจ้งความกังวลในเรื่องนี้ให้พวกเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของ ตุรกีทราบแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น