เอเจนซี - รัสเซียแจ้งต่อยูเครนในวันอังคาร (24) ว่าได้ดำเนินการโอนเงินงวดแรก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของเงินช่วยหลือ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในแผนมัดใจ ยูเครน ให้อยู่ภายในขอบเขตอิทธิพลของมอสโก และกันให้ออกห่างจากอ้อมกอดของสหภาพยุโรป
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ปลุกชีพ ยูเครน ด้วยข้อเสนอข้างต้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เช่นเดียวกับยอมลดแหลกราคาก๊าซที่ขายให้เคียฟ ขณะที่ผู้นำรายนี้พยายามโน้มน้าวชาติเพื่อนบ้านให้เข้าร่วมสหภาพศุลกากรที่นำโดยรัสเซีย ที่ทาง ปูติน หวังจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งกับกลุ่ม 28 ชาติอียู
“เมื่อวานนี้ เงินงวดแรกสำหรับซื้อตราสารหนี้ยูเครนคือ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” นายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย บอกกับนายมีโคลา อาซาคอฟ นายกรัฐมนตรียูเครน ระหว่างการประชุมในกรุงมอสโก “เงินเหล่านี้ถูกโอนเข้าธนาคารกลางยูเครนเมื่อวานนี้” นายเมดเวเดฟ กล่าว ขณะที่ นายอาซาคอฟ ก็ยืนยันว่าทางยูเครนได้รับแล้ว
ความเคลื่อนไหวนี้ มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช ของยูเครน เผชิญเสียงวิจารณ์จากฝ่ายต่อต้านในประเทศ ด้วยลงนามข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับปูติน ที่กรุงมอสโกเมื่อวันอังคารที่แล้ว โดยในข้อตกลงนี้รัสเซียจะรับซื้อตราสารหนี้ในรูปพันธบัตรสกุลยูโรของยูเครนมูลค่า 15,000 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลดราคาก๊าซธรรมชาติลงราว 1 ส่วน 3 หรือลดจาก 400 ดอลลาร์ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร เหลือ 268.5 ดอลลาร์
การกลับลำเลี้ยวเข้าหารัสเซียและถอยห่างจากข้อเสนอกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับอียูของประธานาธิบดี ยานูโควิช จุดชนวนการประท้วงครั้งใหญ่ในยูเครน โดยบางครั้งมีผู้เข้าร่วมหลายแสนคนและจนถึงตอนนี้ก็ยังคงมีประชาชนปักหลักตั้งแคมป์ชุมนุมบริเวณใจกลางกรุงเคียฟ
เหล่าผู้ประท้วงกล่าวหานายยานูโควิช ว่าขายชาติให้กับรัสเซียแลกกับข้อตกลงหนี้และราคาก๊าซ แม้ดูเหมือนว่ามันเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ยูเครนต้องประสบกับวิกฤตหนี้สินในปีหน้า
ในเวลาต่อมานายอาซารอฟ ได้ร่วมกับนายปูติน และผู้นำของคาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กิซสถาน ซึ่งต่างเข้าร่วมหรือไม่ก็มีแผนเข้าร่วมในพันธมิตรการค้าของรัสเซีย ส่วนหนึ่งในความพยายามของมอสโก ที่หวังกู้คืนอิทธิพลของตนเองกับสาธารณรัฐอดีตสหภาพโซเวียตเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ ยูเครน ยังอึกอักที่จะเข้าร่วมสหภาพศุลกากรที่นำโดยรัสเซีย ซึ่งทั้งเบลารุส และคาซัคสถาน ต่างก็เป็นสมาชิกอยู่ เนื่องด้วยการเป็นสมาชิกภาพสหภาพศุลกากรอาจทำลายความเป็นไปได้ใดๆ ที่เคียฟจะกลับลำและลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป
นอกจากนี้แล้ว สัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่า ยูเครน จะเข้าร่วมสหภาพการค้า ก็อาจเป็นชนวนจุดให้การประท้วงในประเทศโหมกระพือขึ้นมาใหม่ หลังจากพบว่ามันเริ่มค่อยๆเบาบางลง แม้ยังมีฝูงชนจำนวนหนึ่งราวๆ พันกว่าคนยังคงปักหลักตั้งแคมป์ประท้วงที่จัตุรัสแห่งหนึ่งในกรุงเคียฟก็ตาม