เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ชาวไนเจอร์จำนวนราว 1,000 คนรวมตัวประท้วงที่กรุงนีอาเม เมื่อวานนี้ (21 ธ.ค.) เพื่อคัดค้านความเป็นหุ้นส่วนกันแบบ “ไม่เท่าเทียม” ระหว่างประเทศของพวกเขากับบริษัทพลังงานนิวเคลียร์ “อารีวา” ในเวลาที่บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสแห่งนี้กำลังเจรจาข้อตกลงการทำเหมืองแร่ยูเรเนียมฉบับใหม่กับรัฐบาลไนเจอร์
บรรดาผู้ชุมนุมซึ่งมีทั้งนักศึกษา นักรณรงค์เพื่อสิทธิ และนักการเมือง ต่างร้องตะโกนว่า “พอกันที อารีวา!” และ “เราไม่เอาสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย” ขณะเดินขบวนจากอาคารรัฐสภาไปยังสำนักงานของอารีวา ที่ซึ่งพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวาง
ทั้งนี้ สัญญาเดิมที่อารีวาทำกับไนเจอร์ เพื่อถลุงแร่ยูเรเนียมจากประเทศแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้ มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม บริษัทนี้ได้รับสัมปทานเหมืองยูเรเนียม 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ชายขอบทางใต้ของทะเลทรายซาฮารามานานกว่า 40 ปี และยังมีอีกเหมืองหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างก่อนเริ่มขุด
บริษัทฝรั่งเศสเจ้านี้ และรัฐบาลไนเจอร์กำลังตกอยู่ในภาวะชะงักงันในการเจรจากันเพื่อต่อสัญญาไปอีก 10 ปี โดยที่กรุงนามีเอ เรียกร้องขอส่วนแบ่งรายได้จากการดำเนินกิจการของอารีวาเพิ่มขึ้น
อาลี อีดริสซา จากองค์กรตรวจสอบความโปร่งใส “โรตับ” ซึ่งเป็นผู้จัดการประท้วงวานนี้ (21) กล่าวว่า การทำสัญญาระหว่างอารีวากับไนเจอร์มีลักษณะที่ “ไม่เท่าเทียมกัน” อย่างสิ้นเชิง โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่แร่ยูเรเนียมนั้นคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไนเจอร์ แต่รายได้ที่ได้รับกลับมานั้นคิดเป็นจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ของค่าจีดีพีเท่านั้น
เขากล่าวว่า “ที่ฝรั่งเศสหลอดไฟ 35 ดวงจาก 100 ดวงส่องสว่างได้ก็เพราะยูเรเนียมของเรา แต่ไนเจอร์กลับยังต้องใช้ไม้ฟืนให้แสงสว่าง”
ประธานาธิบดี มาฮามาดู อิสซูฟู แห่งไนเจอร์กล่าวเมื่อต้นเดือนธันวาคมว่า ประเทศอาณานิคมเก่าของฝรั่งเศสแห่งนี้ต้องการให้ “สายสัมพันธ์ระหว่างเรา (กับอารีวา) เท่าเทียมกัน” โดยระบุเพิ่มเติมว่า “โลกเปลี่ยนไปแล้ว”
ตามข้อมูลของอารีวา เมื่อปีที่แล้ว ไนเจอร์ได้รับเงินจากกิจกรรมเหมืองแร่ภายในประเทศเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่อารีวาและผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ได้รับ 30 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสถือหุ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของอารีวา
สมาคมนิวเคลียร์โลกระบุว่า ไนเจอร์เป็นประเทศผู้ผลิตแร่ยูเรเนียมใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากคาซัคสถาน แคนาดา และออสเตรเลีย