เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – การประท้วงที่ยืดเยื้อมาเกินหนึ่งเดือนเริ่มส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย ไม่ว่าจะเป็นย่านนักเดินทางแบบแบ็กแพ็ก หรือโรงแรมหรู อย่างไรก็ดี ในส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเอง มีทั้งที่หวาดวิตกจนยกเลิกการสำรองห้องพัก และที่ไม่รู้สึกกังวลใดๆ กับสถานการณ์การประท้วง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การท่องเที่ยวของไทยมีพื้นฐานเข้มแข็ง เชื่อฟื้นตัวได้ในเร็ววัน ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีที่นำออกเผยแพร่วันอาทิตย์ (15 ธ.ค.)
รายงานของเอเอฟพีบอกว่า หลายสิบประเทศได้ออกคำเตือนการเดินทางมายังไทยโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ สืบเนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยส่วนใหญ่แนะนำให้ประชาชนของตนใช้ความระมัดระวังเมื่อเดินทางไปในบริเวณใกล้กับที่ชุมนุม
ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงหนึ่งเดือนจนถึงกลางเดือนธันวาคม ลดลงประมาณ 300,000 คน หรือ 8% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามา และเสริมว่า ผู้ประกอบการต่างกังวลว่า การประท้วงอาจไม่จบก่อนเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ปีหน้า
ทั้งนี้ การประท้วงที่มีเป้าหมายในการโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์และขจัดอิทธิพลของทักษิณ ชินวัตร คราวนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 คน และบาดเจ็บมากกว่า 200 คน อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงไม่กี่วันหลังมานี้ และรายงานของเอเอฟพีชิ้นนี้ยังคงอ้างบทสรุปตามสูตรเดิมของสำนักข่าวฝรั่งเศสแห่งนี้ที่ว่า โดยรวมแล้วความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และชนชั้นนำที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ กับชาวต่างจังหวัด และชนชั้นแรงงานซึ่งภักดีต่อทักษิณที่ถูกกองทัพยึดอำนาจในปี 2549 และปัจจุบันเป็นนักโทษหนีคดีอยู่นอกประเทศ
เอเอฟพีบอกว่า เมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ สมาคมธุรกิจบนถนนข้าวสารซึ่งเป็นย่านนักท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็กเผยว่า ลูกค้าที่จองที่พักในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมขอยกเลิกกว่า 50% เนื่องจากยกเลิกเดินทางมายังประเทศไทย หรือเข้าพักที่อื่นแทนถนนข้าวสาร
เวลาเดียวกันนั้น เชน โรงแรมระดับไฮเอนด์ เป็นต้นว่า แมนดาริน โอเรียนเต็ล และแอ็กคอร์ กล่าวว่าพวกเขาก็เจอลูกค้าขอยกเลิกการสำรองห้องพักเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวเอเชียซึ่งเป็นพวกที่ไม่ต้องการเสี่ยงภัยใดๆ คือกลุ่มที่เลือกที่จะหลีกหนีจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ขณะที่นักเดินทางจำนวนมาก โดยเฉพาะจากยุโรปและอเมริกาเหนือ ไม่รู้สึกกังวลหรือไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เกี่ยวกับวิกฤตการเมืองในไทยขณะนี้
“ฉันไม่รู้เลย จนกระทั่งเพื่อนที่บ้านเห็นข่าวและเตือนมา ตอนที่มาถึงนั้น มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น แต่ฉันไม่รู้เรื่องเลยสักนิด” อเล็กซ์ ยัง วัย 23 ปี ให้สัมภาษณ์จากบาร์แห่งหนึ่งบนถนนข้าวสาร ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมหลักของการประท้วง
ส่วน ฮันนาห์ สตีนสัน วัย 24 ปี เพื่อนที่มาด้วยกันจากไอร์แลนด์เหนือ เสริมว่า “พวกเราชินแล้วในเรื่องความกลัวเกี่ยวกับเหตุระเบิด” แต่ก็สำทับว่า ถนนข้าวสารตอนนี้เงียบกว่าตอนที่เธอมาเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับผู้ประกอบการบนถนนข้าวสาร ต่างรับรู้ถึงผลกระทบจากการชุมนุม หลายคนไม่พอใจกับผลกระทบจากวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อ
“ปีที่แล้ว ลูกค้าเฮฮาปาร์ตีกันทุกสุดสัปดาห์ แต่ตอนนี้แม้แต่วันศุกร์-เสาร์ ยังเงียบเหงา ทุกร้านเหมือนกันหมด ไม่มีลูกค้า” หนุ่ม มนะชัย ผู้จัดการร้านอาหารฮิปปี้ เดอ บาร์ บนถนนข้าวสารครวญ
สถานที่ชุมนุมหลักหลายแห่งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในย่านประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ
นักท่องเที่ยวโปแลนด์คนหนึ่งเล่าว่า เมื่อวันอังคารที่แล้ว (10 ธ.ค.) เขาพบตัวเองอยู่กลางหมู่ผู้ประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ได้ตกใจกลัวแต่อย่างใด เพียงแค่ประหลาดใจเท่านั้น
“เอเชียเป็นภูมิภาคที่ปลอดภัยมากเมื่อเทียบกับอเมริกาใต้ หรือแม้แต่โปแลนด์ ผมไม่รู้เลยว่ามีการชุมนุม แล้วก็ไม่ได้รู้สึกรำคาญใจอะไรเลย”
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเอเชียโดยรวมขณะนี้กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์ร้าย เช่น การระบาดของโรคซาร์ส มหาภัยพิบัติสึนามิในญี่ปุ่น และไต้ฝุ่นในฟิลิปปินส์
บิลล์ บาร์เน็ตต์ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว ซี9 โฮเต็ลเวิร์กส์ ชี้ว่า แม้เหตุการณ์ต่างๆ อาจทำให้ธุรกิจซบเซา แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้เร็ว และช่วงเวลาในการฟื้นตัวก็กำลังสั้นลงด้วย ถึงแม้เขาย้ำว่าปัญหาของการท่องเที่ยวไทยในขณะนี้ คือความไม่แน่นอนที่กำลังคุกคามธุรกิจต่างๆ ในกรุงเทพฯ
ตัวอย่างเช่น ไม่ได้มีเพียงนักเดินทางชาวเอเชียเท่านั้นที่มีความอดทนต่อความเสี่ยง ต่ำกว่าพวกนักเดินทางอเมริกาเหนือ โดยที่นักเดินทางประเภทธุรกิจก็มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อสถานการณ์แง่ลบ ถึงขนาดที่เป็นกลุ่มแรกที่ยกเลิกการจองห้องพักหากมีคำเตือนการเดินทางออกมา
อีกทั้งคราวนี้ยังเป็นปัญหาล่าสุดที่เกิดกับภาพลักษณ์การเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวของ “สยามเมืองยิ้ม” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากอุทกภัยครั้งใหญ่ อุบัติเหตุสยองจากรถบัสและเรือ และความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับอาชญากรรมที่มีเป้าหมายที่คนต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม อแมนดา แฮนด์แมน ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ในกรุงเทพฯ มีความเห็นว่า ไทยมีความยืดหยุ่นอย่างชนิดเหลือเชื่อ และยังมีแนวโน้มในการฟื้นตัว
ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในเมืองไทยสูงสุดถึง 22 ล้านคน
ความนิยมในเมืองไทยสามารถต้านทานเหตุการณ์ความวุ่นวายหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงเมื่อปลายปี 2008 ที่นักเดินทางจำนวนมากต้องติดค้างอยู่เนื่องจากมีการประท้วงยึดสนามบินหลัก 2 แห่งของกรุงเทพฯ นาน 9 วัน
นอกจากนี้ยังมีการประท้วงใหญ่เมื่อ 3 ปีที่แล้วที่กลายเป็นความรุนแรง และทหารเข้าปราบปรามทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบคน เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างมาก แต่การท่องเที่ยวของไทยก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
“โดยพื้นฐานแล้ว ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งมาก น่าเสียดายที่อุปสรรคสำคัญในช่วงไม่กี่ปีมานี้คือความไร้เสถียรภาพทางการเมือง” แพทริก แบสเส็ต รองประธานอาวุโสของกลุ่มแอกคอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทิ้งท้าย