xs
xsm
sm
md
lg

แอฟริกาใต้สิ้น ‘แมนเดลา’ โลกสิ้น ‘ยุคผู้นำที่ยิ่งใหญ่’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: จอห์น เฟฟเฟอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The twilight of leadership
By John Feffer
12/12/2013

จากการถึงแก่อสัญกรรมของ เนลสัน แมนเดลา โลกไม่เพียงกำลังโศกเศร้าอาลัยถึงการลาลับของนักปลดแอกผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งเท่านั้น หากแต่กำลังโหยไห้ให้แก่ยุคสมัยแห่งผู้นำและรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่รูดม่านปิดฉากไปด้วย สังคมสมัยใหม่ในทุกวันนี้อยู่ในภาวะสลับซับซ้อนจนเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถควบคุมสั่งการได้เสียแล้ว แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกไม่สามารถชื่นชอบได้จริงๆ กับพวกนักการเมืองจืดๆ ชืดๆ และพวกเทคโนแครตไร้สีสันซึ่งกำลังเป็นผู้ปกครองพวกเราอยู่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

จากการถึงแก่อสัญกรรมของ เนลสัน แมนเดลา ผู้นำชาวแอฟริกาใต้ ผู้คนจำนวนมากมายกำลังเศร้าสร้อยอาลัยถึงการลาลับของนักเคลื่อนไหวมวลชนผู้กล้าหาญ, รัฐบุรุษผู้มองการณ์ไกล, ตลอดจนพลังแห่งศีลธรรมอันแข็งแกร่งจนยากที่จะต้านทานได้ ภายในพิภพแห่งการเมืองโลกซึ่งมีแต่ความเสื่อมทรามล้มเหลว การจากไปของเขาก่อให้เกิดความสลดสะเทือนใจแก่ประชาชนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกใบนี้ แน่นอนทีเดียว พวกเขากำลังรู้สึกทุกข์โศกกับการสิ้นชีวิตของเขา แต่บางทีพวกเขาอาจจะกำลังโหยไห้ให้แก่บางสิ่งบางอย่างที่ใหญ่โตเกินกว่านั้นมากพร้อมกันไปด้วย มันไม่ใช่แค่การจากไปของนักปลดแอกผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้นหรอก หากแต่เป็นการจบสิ้นปิดฉากของยุคสมัยแห่งผู้นำและรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอีกด้วย

เหล่าผู้นำเฉกเช่น เนลสัน แมนเดลา นี้ ดูเหมือนกำลังก้าวเดินไปบนหนทางของเหล่านายช่างฝีมือยอดเยี่ยม, มหากวีระดับตำนาน, และนักสำรวจมหาสมุทรผู้ยิ่งใหญ่ นักแผ้วถางสรรสร้างเส้นทางใหม่ทั้งหมดเหล่านี้ ต่างทรงความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยของพวกเขา แต่สำหรับยุคปัจจุบัน พวกเขาไม่มีหลงเหลืออยู่อีกแล้ว พวกเรากำลังอยู่บนปากขอบแห่งการปลดผู้นำทั้งหลายให้ออกจากงาน ในลักษณะอันคล้ายคลึงอย่างมากกับที่ครั้งหนึ่งพวกเราเคยผลักไสพระราชาสืบราชวงศ์ทั้งหลายให้ออกไปนอกทาง? พวกผู้นำดังกล่าวนี้ยังคงสามารถพบเห็นได้อยู่หรอก --- เป็นต้นว่า คนอย่าง “โบโน” (Bono นักร้อง, นักดนตรี, นักแต่งเนื้อร้อง ชาวไอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งวง U2 นอกจากนั้นเขายังเป็นนักลงทุนเวนเจอร์แคปิตอล, นักธุรกิจ, นักเคลื่อนไหวซึ่งได้รับความยอมรับนับถืออย่างสูง -ผู้แปล) ผู้กำลังรณรงค์เรียกร้องให้สนใจแก้ไขปัญหาความยากจนในทั่วโลก— ทว่าพวกเขากำลังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของประมุขที่ไม่มีอำนาจอันแท้จริง ไม่ต่างอะไรกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Prince Charles) มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักร

ชีวิตสมัยใหม่กำลังอยู่ในสภาพที่กระจัดกระจายไร้ซึ่งศูนย์กลางมากยิ่งขึ้นทุกทีๆ สหภาพยุโรป (อียู) นั้นแท้ที่จริงแล้วก็ไม่ได้มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้นำเลย ขบวนการ “ยึดครอง” (Occupy movement) มีความรู้สึกภาคภูมิใจด้วยซ้ำที่ขบวนการของพวกเขาอยู่ในภาวะไม่มีผู้นำ ความพยายามรณรงค์ของกลุ่ม LGBT (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยที่คำว่า LGBT นำมาจากอักษรตัวแรกของ lesbian เลสเบี้ยน , gay เกย์ , bisexual ไบเซ็กชวล , และ transgender/transsexual คนข้ามเพศ) ได้รับชัยชนะในหลายๆ ครั้งทีเดียว ทว่าไม่ได้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้นำในการต่อสู้ เศรษฐกิจโลกนั้นมีผู้เล่นที่ทรงอำนาจอิทธิพลอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศหรือในระดับบริษัท แต่ไม่มีซาร์เศรษฐกิจคนไหนกำลังนั่งเป็นประธานอยู่เหนืออาณาจักรวิสาหกิจอันใหญ่โตกว้างขวางนี้ ถึงแม้อาจจะมีพวกบิ๊กเบิ้มขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) เหมือนกันที่อาจจะวาดฝันจินตนาการพวกเขาเองว่ามีฐานะเช่นนั้น

หรือลองพิจารณาดูสิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้นในเวลานี้ในประเทศยูเครน ในท้องถนนของกรุงเคียฟ ชาวยูเครนจำนวนหลายแสนคนกำลังประท้วงทิศทางที่มุ่งเอนเอียงไปข้างฝักใฝ่รัสเซีย ของคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันของ วิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ผู้ประท้วงเหล่านี้จำนวนมากทีเดียว อยู่ในวัยที่มีอายุน้อยเกินกว่าจะเคยเข้าร่วมการลุกฮือที่เรียกขานกันว่า “การปฏิวัติสีส้ม” (Orange Revolution) ซึ่งได้โค่นล้ม ยานูโควิช ในรอบก่อนเมื่อปลายปี 2004

ในตอนนั้น พวกผู้นำของการปฏิวัติสีส้ม ได้แก่ วิกตอร์ ยูเชนโก (Viktor Yushchenko) และ อูย์เลีย ทิโมเชนโก (Yulia Timoshenko) ซึ่งได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีตามลำดับในคณะรัฐบาลยูเครนชุดถัดมา แต่แล้วพวกเขาก็ทะเลาะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงและเปิดเผย โดยที่ในที่สุดแล้ว ยูเชนโก ขึ้นให้การในศาลเล่นงานอดีตผู้ร่วมงานของเขาผู้นี้ ในคดีที่เธอถูกฟ้องร้องเป็นจำเลย เธอพ่ายแพ้ในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2010 และขณะนี้กำลังถูกจำคุกด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น ส่วน ยูเชนโก ก็ต้องพบเห็นคะแนนนิยมในหมู่ประชาชนของเขาลดฮวบฮาบจากที่เคยอยู่ในระดับ 70% ในปี 2005 ก็เหลือแค่ 20% ภายในเวลาไม่ถึงปี ในขณะที่เศรษฐกิจของยูเครนกำลังแตกระเบิดจากภายใน ยูเชนโก และ ทิโมเชนโก กลับยังคงต่อสู้ฟาดฟันกันและกันไม่ยอมเลิก ไม่ต่างอะไรจากตัวละคร 2 ตัวในภาพยนต์แอคชั่นที่กำลังต่อสู้กันในขณะที่ตู้สุดท้ายของขบวนรถไฟซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงโดยไม่มีใครควบคุม กำลังแหกโค้งมุ่งหน้าสู่หน้าผา

เมื่อพิจารณาจากความล้มเหลวของคณะผู้นำภายหลังการปฏิวัติสีส้ม จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรที่ ยานูโควิช สามารถที่จะกลับคืนมาและยึดตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากความผิดหวังของบรรดาผู้ออกเสียงชาวยูเครน จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรที่พวกนักเคลื่อนไหวรุ่นปัจจุบันต่างเป็นผู้ที่ระแวงสงสัยชนิดเต็มพิกัดในเรื่องการนำหรือคณะผู้นำ ดังที่ อานัสตาเซีย บอนดาเรนโค (Anastasia Bondarenko) ผู้ชุมนุมเดินขบวนอายุน้อยคนหนึ่งอธิบายว่า “เมื่อช่วงที่เกิดการปฏิวัติสีสัมนั้น ประชาชนต่างเชื่อมั่นเชื่อถือในผู้นำ แต่ตอนนี้พวกเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว” ตอนนี้พวกเขาต่างหลงเสน่ห์ต้องมนตร์ผูกพันกับแนวความคิด –ซึ่งก็คือ แนวความคิดที่จะให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป— แทนที่จะหลงใหลปลาบปลื้มกับผู้นำคนหนึ่งคนใด

ยูเครนไม่ได้เป็นกรณียกเว้นเลยที่กำลังตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ขอให้ลองมองดูสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นกับ โมฮาเหม็ด มอร์ซี (Mohamed Morsi) แห่งอียิปต์ (ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประธานาธิบดีของประเทศ แต่ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำห่างไกลกลางทะเลทราย), ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี (Silvio Berlusconi) แห่งอิตาลี (ถูกขับออกจากวุฒิสภาจนได้ในที่สุด และเวลานี้กำลังทำท่าจะถูกตัดสินลงโทษจำคุก), จาเนซ จานซา (Janez Jansa) แห่งสโลวีเนีย (ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปีในฤดูร้อนปีนี้ด้วยความผิดฐานรับสินบน), ตลอดจนผู้นำที่ตกจากอำนาจอย่างน่าอัปยศคนอื่นๆ อีกมากมาย

นักการเมืองไม่จำเป็นว่าจะต้องปิดฉากลงด้วยการถูกนำตัวเข้าคุก จึงจะสามารถเป็นตัวอย่างที่สาธิตให้เห็นถึงความผิดหวังและ “ตาสว่าง” ของประชาชนจำนวนมากมายต่อเหล่าผู้นำของพวกเขา แท้ที่จริงแล้ว คะแนนนิยมความยอมรับในผลงานซึ่งไหวตัวตกลงมาอย่างฮวบฮาบรวดเร็ว, จากนั้นก็ติดตามมาด้วยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าๆ ออกๆ จากอำนาจอย่างรวดเร็วของพวกนักการเมืองและพรรคการเมืองประชาธิปไตยตลอดทั่วทั้งโลก ย่อมทำให้บุคคลอย่าง อังเงลา แมร์เคิล (Angela Merkel) แห่งเยอรมนี (ซึ่งสามารถครองตำแหน่งต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 8 แล้ว) และ บารัค โอบามา (Barack Obama) ของสหรัฐฯ (ที่ได้รับเลือกตั้งให้นั่งเก้าอี้ต่อไปเป็นสมัยที่ 2) กลายเป็นของหายากไปเลย

แน่นอนล่ะ ยังมีผู้นำที่เป็นเผด็จการหรือนิยมใช้ความรุนแรงอีกหลายคนซึ่งยังสามารถครองอำนาจอยู่ได้ อย่างเช่นผู้นำใน แคเมอรูน, อิเควทอเรียลกินี, ซิมบับเว, แองโกลา, กัมพูชา, และยูกันดา ทั้งหมดเหล่านี้ต่างดำรงตำแหน่งมาคนละไม่ต่ำกว่า 25 ปีแล้ว ทว่าน่าจะดีกว่าถ้าหากเราถือว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นสิ่งตกทอดจากยุคเก่าที่ล่วงเลยผ่านพ้นไป ทำนองเดียวกับพวกดินแดนอาณานิคมบางแห่งซึ่งยังคงสภาพเป็นเมืองขึ้นอยู่ต่อมา ในยุคที่ทั่วโลกเกิดกระบวนการอาณานิคมสลายตัว (decolonization) เป็นต้นว่า ฮ่องกง และ มาเก๊า ก่อนที่สหราชอาณาจักรและโปรตุเกสตามลำดับ จะส่งคืนให้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ ติมอร์ตะวันออก ก่อนที่จะได้รับเอกราช เพราะถึงอย่างไรข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า ในปี 1974 นั้นมีรัฐเอกราชในโลกเพียงแค่ 27% เท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย แต่มาถึงปี 1999 ตัวเลขดังกล่าวนี้ได้พุ่งสูงขึ้นอยู่ในระดับ 63%

ตามแนวความคิดของพวกที่เชื่อว่ารัฐต่างๆ จะต้องก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นนั้น พวกเราส่วนใหญ่ในโลกได้ก้าวหลุดออกมาจากยุคสมัยแห่งลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จแล้ว การสู้รบปรบมือด้วยความทุกข์ยากลำบากเพื่อต่อต้านระบอบปกครอง ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่นิยามชีวิตทางการเมืองของ เนลสัน แมนเดลา – หรือ เลค วาเลซา (Lech Walesa) ในโปแลนด์ หรือ คิม แดจุง (Kim Dae-jung) ในเกาหลีใต้ คือภารกิจของผู้คนในรุ่นก่อน

จอห์น เฟฟเฟอร์ เป็นผู้อำนวยการร่วมของ “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) ซึ่งมุ่งเสนอบทวิเคราะห์อันทันการณ์ในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯและด้านกิจการระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะทางเลือกต่างๆ ทางด้านนโยบาย FPIF เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีแนวทางความคิดแบบก้าวหน้า
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น