เอเจนซีส์ - ในวันพุธ (4) ที่ผ่านมา รัฐสภาลิเบียได้ลงมติเห็นชอบให้ใช้กฎหมายชะรีอะห์เป็นหลักพื้นฐานในการตัดสินคดีครอบคลุมทุกระดับ รวมถึงตั้งแต่คดีเล็กน้อย เช่น ลักขโมย ไปจนถึงปัญหาทางการเงินการธนาคารซึ่งกฎหมายอิสลามนี้จะเป็นที่มาของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศเช่นกัน
“กฎหมายอิสลามจะเป็นที่มาของกระบวนการนิติบัญญัติทั้งปวงในลิเบีย และกฎหมายท้องถิ่นในลิเบียต้องไม่ขัดกับกฏหมายชะรีอะห์” แถลงการณ์ของสภาสูงสุดแห่งชาติลิเบีย (General National Congress) ซึ่งได้ออกมาหลังจากเสร็จสิ้นการลงคะแนนเสียงในวันพุธ (4) ระบุ
อย่างไรก็ดี กระบวนการที่จะทำให้กฏหมายชะรีอะห์ใหม่นี้มีผลบังคับใช้ในลิเบียยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่คณะกรรมการพิเศษจะทำการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมภายในประเทศเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ขัดกับหลักกฏหมายอิสลาม ทั้งนี้ เป็นข้อมูลที่อ้างจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งระบุว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นได้ไม่นานก่อนนี่จะมีการลงคะแนนเสียงอีกครั้งเพื่อเลือกกรรมการคณะพิเศษจำนวน 60 คนซึ่งจะรับหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของลิเบีย
“กฎหมายชะรีอะห์” ซึ่งถือว่าเป็นหลักจริยธรรมและกฏหมายของศาสนาอิสลาม นั้นต่างจาก “ระบบประมวลกฏหมาย” ในโลกตะวันตกซึ่งมีการกำหนดด้านหลักจริยธรรมและหลักเกณฑ์ปฏิบัติของสังคมอย่างหลวมๆ ซึ่ง “กฎหมายชะรีอะห์” นั้นอ้างอิงโดยตรงจากคัมภีร์อัลกุรอาน รวมไปถึงคำสอนของนบีมุฮัมมัด และหลักปฏิบัติตามธรรมเนียมนิยมของชาวมุสลิม ซึ่งกฏหมายอิสลามนี้ถูกมองว่าไม่ต่างจาก “พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า”
สตีเฟน บราว์น บก.ของเว็บไซต์ “Front Page Magazine” เผยต่อสื่อของรัสเซียว่า กฎหมายชะรีอะห์จะถูกใช้เป็นหลักอ้างอิงในการออกกฏหมายเท่านั้น และเขายังยกตัวอย่าง การออกกฎหมายส่วนใหญ่ในอียิปต์นั้นถูกอ้างอิงจากกฎหมายกฎหมายชะรีอะห์ซึ่งตัวกฎหมายอิสลามนี้จะไม่กลายเป็นกฏหมายที่บังคับใช้ในประเทศโดยตรง ดังนั้นจะมีบางส่วนของกฎหมายชะรีอะห์ที่จะถูกตัดออก หรือจะไม่นำมาใช้ เช่น การตัดศรีษะ หรือการถูกลงโทษโดยการปาหินจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งเป็นส่วนที่ “ตึงจนเกินไป”
นอกจากนี้ บราว์นยังเสริมว่า “ผมคิดว่ามาตรการนี้ออกมาเพื่อสนับสนุนกลุ่มมุสลิมที่เคร่งโดยหวังว่าจะทำให้พวกเขาสนับสนุนรัฐบาลลิเบีย”
ลิเบียยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านที่ยังวิกฤตหลังจากที่กองกำลังนาโตสนับสนุนการโค่นระบอบการปกครองของมูอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขณะที่ในปัจจุบันการบริหารประเทศและความมั่นคงของลิเบียยังคงอ่อนแออยู่ เห็นได้จากล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีประชาชนลิเบียจำนวน 46 คนถูกสังหารโดยพวกหัวรุนแรงกลางกรุงตริโปลี