xs
xsm
sm
md
lg

เยอรมนีเสนอ “กฎหมายควบคุมการผลิตเบียร์” อายุ 500 ปีเป็น “มรดกโลก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ผู้ผลิตเบียร์ในเยอรมนีเสนอให้กฎหมายควบคุมมาตรฐานการผลิตเบียร์ “ไรน์ไฮต์เกโบต” (Reinheitsgebot) ที่ใช้มานานเกือบ 500 ปี ได้รับการประกาศเป็น “มรดกโลก”

สมาพันธ์ผู้ผลิตเบียร์เยอรมนีได้ยื่นหนังสือต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้พิจารณายกย่องกฎหมายไรน์ไฮต์เกโบตเป็น “มรดกโลกที่จับต้องไม่ได้” เช่นเดียวกับระบำฟลาเมงโกของสเปน และมวยปล้ำน้ำมันของตุรกี

กฎหมายไรน์ไฮต์เกโบตกำหนดให้การหมักเบียร์เยอรมันต้องใช้น้ำ, มอลต์, ฮอป และยีสต์ เป็นส่วนผสมเท่านั้น

เยอรมนีมีผู้ผลิตเบียร์ราว 1,300 ราย และมีเบียร์ให้เลือกดื่มหลากหลายถึง 5,000 ยี่ห้อ

“หากทั่วโลกยังมองว่าเยอรมนีเป็นเมืองแห่งเบียร์ของแท้ นั่นก็เป็นเพราะกฎหมายไรน์ไฮต์เกโบต” ฮานส์-จอร์จ ไอล์ส ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตเบียร์เยอรมนีระบุ

สิ่งที่ยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน ได้แก่ การเต้นแทงโกของอาร์เจนตินา, ศิลปะการถักทอผืนพรมในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน, วัฒนธรรมอาหารฝรั่งเศส และการเต้นระบำ Bigwala ของชนเผ่าบาโซกาในประเทศยูกันดา

กฎหมายไรน์ไฮต์เกโบตเริ่มประกาศใช้ในแคว้นบาวาเรียเมื่อปี 1516 ก่อนจะบังคับใช้ทั่วเยอรมนีในปี 1906 ทั้งนี้เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากการดื่มเบียร์ราคาถูกที่อาจมีส่วนผสมอันตราย ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายควบคุมมาตรฐานการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

แม้เยอรมนีจะเป็นแหล่งผลิตเบียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป ทว่า อัตราการบริโภคเบียร์ต่อหัวกลับลดลงเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีมานี้

อย่างไรก็ดี เยอรมนียังเป็นต้นกำเนิดเทศกาลเบียร์ใหญ่ที่สุดในโลก Oktoberfest ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองมิวนิก และในปีนี้ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงานมากถึง 6.4 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น