xs
xsm
sm
md
lg

สกอตแลนด์ “เผยโฉม” สมุดปกขาว หวังโน้มน้าวประชาชน “หนุน” ประกาศเอกราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อเล็กซ์ ซัลมอนด์ นายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์
เอเอฟพี – รัฐบาลท้องถิ่นของสกอตแลนด์ในวันนี้ (26 พ.ย.) เผยโฉมเอกสารทางกฎหมาย ที่มุ่งแจกแจงกระบวนการ และผลดีในการประกาศเอกราชจาก สหราชอาณาจักร ขณะที่บรรดาผู้นำชาตินิยมที่สนับสนุนการแยกดินแดนกำลังเผชิญกับการต่อสู้อันยากลำบาก ในการสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวสกอตแลนด์หันมาลงมติสนับสนุน การยุติการเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษที่ดำเนินมานานถึง 300 ปี

รัฐบาลของเขตการปกครองสกอตแลนด์จะเผยแพร่สมุดปกขาว ที่กรุงเอดินบะระ ซึ่งระบุถึงวิธีการบริหารจัดการประเทศ หากประชาชนโหวตให้สกอตแลนด์ประกาศตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ ในการลงประชามติครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายนปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจซึ่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ “ซันเดย์ไทมส์” ฉบับสัปดาห์ที่แล้วชี้ให้เห็นว่า ทีมรณรงค์หาเสียงสนับสนุนให้ประกาศเอกราช ที่นำโดย อเล็กซ์ ซัลมอนด์ นายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคสกอตติชเนชันแนลปาร์ตี (เอสเอ็นพี) ก่อนอื่นเลยจะต้องแก้ไขสถานการณ์ที่ผู้สนับสนุนให้แยกดินแดนมี 38 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้คัดค้านมี 47 เปอร์เซ็นต์

กระนั้นก็ตาม ซัลมอนด์เน้นย้ำว่า เขามีเวลาที่จะทำให้พวกผู้ลงประชามติเกิดความมั่นใจว่า สกอตแลนด์ที่แยกเป็นดินแดนอิสระจะไม่เพียงแต่เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น จากแหล่งน้ำมันสำรองในทะเลเหนือเท่านั้น แต่ยังจะมีความเสมอภาคภายในสังคมมากขึ้น และมุ่งมั่นในความสามัคคีกับยุโรปยิ่งกว่าที่จะยังอยู่กับสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ดี ความเชื่อเกี่ยวกับเศรษฐกิจสกอตแลนด์ของซัลมอนด์ได้ถูกลดน้ำหนักลงไปมากจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยอิสระ “อินสติติวท์ ฟอร์ ฟิสคัลสตัดดี” ที่นำออกเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยคาดการณ์ว่า เมื่อประเมินการประกาศเอกราชในแง่บวกที่สุด ภายหลังการประกาศแยกดินแดนแล้ว สกอตแลนด์ก็ยังจะต้องหาทางตัดทอนรายจ่ายสาธารณะ หรือไม่ก็ขึ้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับ 1.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
แท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลเหนือ ในบริเวณใกล้เมืองอเบอร์ดีน ของสกอตแลนด์
วันนี้ (26) แดนนี อเล็กซานเดอร์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังของอังกฤษ กล่าวเตือนซัลมอนด์ว่า นี่ย่อมหมายความว่าประชาชนชาวสกอตแลนด์จะต้องจ่ายภาษีในอัตราขั้นพื้นฐานต่อปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,600 ดอลลาร์ (ราว 51,225 บาท) ภายในสิ้นทศวรรษนี้

ทั้งนี้ อเล็กซานเดอร์ สังกัดพรรคลิเบอรัลเดโมแครต ที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลผสมนำโดยพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน กำลังใช้ความพยายามอย่างแข็งขันเพื่อให้ชาวสกอตโหวต “ไม่เห็นด้วย” ในการลงประชามติประกาศเอกราชปีหน้า

ทางด้าน นิโคลา สเตอร์เจียน รองนายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์บอกว่า เชื่อว่าเอกสารของรัฐบาลที่นำออกเผยแพร่ในวันนี้ (26) จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บรรดาผู้ลงประชามติที่ยังลังเลใจให้โหวต “เห็นด้วย” เพื่อให้ “สกอตแลนด์ (มีอนาคต) ที่มั่งคั่งและมีความเท่าเทียมมากขึ้น”

แต่ อลิสแตร์ ดาร์ลิง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและการคลัง ที่เป็นหนึ่งในผู้รณรงค์ให้สกอตแลนด์ยังคงรวมอยู่ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่าเอกสารฉบับดังกล่าว “จะพยายามบีบให้สกอตแลนด์เลือกในสิ่งที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งเราไม่ต้องการ”

“เราไม่เห็นจะต้องเลือกระหว่างการมีรัฐสภาสกอตแลนด์ที่แข็งแกร่ง กับความแข็งแกร่งและมั่นคง จากการเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเลย” ในเมื่อ “เราสามารถเลือกทั้งสองอย่างได้อยู่แล้ว” เขาบอก

ตามแผนการที่ระบุไว้ หากได้ชัยชนะจากการลงประชามติสกอตแลนด์จะสามารถฉลองวันประกาศอิสรภาพในวันที่ 24 มีนาคม ปี 2016 และจากนั้นก็จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2016

วันที่ 24 มีนาคมนั้นมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ เพราะถือเป็นวาระครบรอบการลงนามพระราชบัญญัติสหภาพปี 1707 (Acts of Union) ซึ่งผนวกสกอตแลนด์กับอังกฤษ เข้าเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน

ตามโครงสร้างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ รัฐบาลสกอตแลนด์มีอำนาจดูแลนโยบายที่หลากหลาย เป็นต้นว่า สาธารณสุข และการศึกษา ทว่านโยบายด้านที่สำคัญๆ อย่างกลาโหม การต่างประเทศ และสวัสดิการสังคมนั้น ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของลอนดอน

บรรดาผู้ที่วิจารณ์ซัลมอนด์เตือนว่า การลงประชามติเห็นชอบให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชจะทำให้เอดินบะระ และลอนดอนต้องเผชิญปัญหาใหญ่หลวงที่น่าปวดหัว นับตั้งแต่จะแบ่งกองทัพอย่างไร ไปจนถึงการแยกระบบภาษี

นอกจากนี้ น้ำมันก็เป็นอีกประเด็นใหญ่ที่ต้องคำนึงถึง

น้ำมันปริมาตรมหาศาลถึง 2.4 หมื่นล้านบาร์เรลในทะเลเหนือของอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอาณาเขตของสกอตแลนด์นั้นจะทำให้ลอนดอนและเอดินบะระต้องมาปรึกษากันว่า พวกเขาจะแบ่งสัดส่วนรายได้กันอย่างไร ขณะพวกบรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสกอตแลนด์ที่เป็นเอกราชแล้วนั้น จะต้องพึ่งพาอาศัยตลาดน้ำมันที่ผันผวนรวดเร็วมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น