เอเอฟพี – การดูกีฬาช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้ งานวิจัยที่นำออกเผยแพร่วานนี้ (24 ต.ค.) ระบุ โดยชี้ว่า การมองดูคนอื่นออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการตอบสนองทางด้านสรีรวิทยาอื่นๆ ราวกับว่าคุณเองเป็นผู้ออกกำลังกาย
งานวิจัยฉบับนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ “Frontiers in Autonomic Neuroscience” ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราดูวีดีโอที่ถ่ายจากมุมมองของคนที่กำลังวิ่ง จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ การไหลเวียนของเลือด และการขับเหงื่อเพิ่มสูงขึ้นทั้งหมด
บรรดานักวิจัยกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่พบว่า ระบบประสาทซิมพาเทติกทำงานเพิ่มขึ้น เมื่อคนเราดูการแข่งขันกีฬา ทั้งนี้ระบบประสาทซิมพาเทติก เป็น 1 ใน 3 ระบบประสาทหลัก ของระบบประสาทส่วนกลาง
“การบันทึกการทำงานของระบบประสาทระบบนี้ ทำให้มีวิธีที่ละเอียดอ่อนมากในการวัดการตอบสนองทางด้านสรีรวิทยาต่อความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และจิตใจ” โวกาน เมซฟีลด์ หนึ่งในผู้นำทีมวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ “เรารู้ว่าระบบประสาทซิมพาเทติก ซึ่งเชื่อมต่อกับหัวใจ ต่อมเหงื่อ และเส้นเลือด ตลอดจนเนื้อเยื่อ นั้นจะทำงานมากขึ้นในช่วงที่เรากำลังออกกำลังกาย”
“ตอนนี้ เราได้แสดงให้เห็นว่า ระบบประสาทยังจะทำงานมากขึ้น ตอนที่เรากำลังดูฉากที่เคลื่อนไหว ราวกับว่าเรากำลังเป็นคนที่กำลังวิ่งเอง”
ในการวิจัยครั้งนี้ มีการฝังเข็มเล่มเล็กๆ เข้าไปในเส้นประสาทส่วนนอกของอาสาสมัครทั้ง 9 คนเพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้า ของเส้นใยประสาทที่เชื่อมต่อกับเส้นเลือด ทำให้สามารถวัดค่าการตอบสนองทางด้านสรีรวิทยาต่อความตึงเครียดทางร่างกายหรือทางจิตใจในระดับที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากๆ ได้
ในตอนแรกบรรดาอาสาสมัครที่เข้าร่วมในการทดลองจะได้ดูภาพนิ่งบนจอคอมพิวเตอร์ ขณะที่บรรดาผู้วิจัยคอยตรวจสอบการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก ส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ตลอดจนตัวแปรเสริมทางสรีรวิทยาอื่นๆ
ทั้งนี้ พบว่าขณะอาสาสมัครกำลังชมภาพวิวทิวทัศน์ต่างๆ ที่เป็นภาพนิ่ง ค่าต่างๆ อยู่ในระดับคงที่ แต่เมื่อให้พวกเขาชมวีดีโอความยาว 22 นาที ที่ถ่ายจากมุมมองของนักวิ่งคนหนึ่งที่กำลังวิ่งอย่างแข็งขัน ก็พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
“แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระดับเล็กน้อย แต่ก็เป็นการตอบสนองต่อการออกกำลังกายทางสรีรวิทยาตามที่ควรจะเป็น” ราเชล บราวน์ ผู้ร่วมทำการวิจัยกับเมซฟีลด์กล่าว ทั้งนี้ เธอถือเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลก ในด้านการบันทึกเซลล์ประสาทซิมพาเทติก เพื่อรักษาสุขภาพ และรักษาโรค
“เนื่องจาก (ในเวลาที่ทำการทดลอง) อาสาสมัครกำลังนั่งพักผ่อนโดยไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้อของพวกเขาจริงๆ ผลการวิจัยนี้จึงชี้ว่า การตอบสนองที่เกิดขึ้นนี้เป็นไปในเชิงจิตใจ นั่นก็คือเกิดขึ้นจากจิตใจ ไม่ใช่ร่างกาย
“การศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นล่าสุดของเราในเรื่องอารมณ์ ที่เราพบว่าการดูภาพที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อย่างงานด้านกามารมณ์ จะทำให้ประสาทซิมพาเทติกของเราทำงานมากขึ้น และร่างกายจะขับเหงื่ออกมามากขึ้น”
แต่ถึงแม้งานวิจัยครั้งนี้ให้ข้อสรุปว่า ร่างกายของเราจะทำงานคล้ายกับออกกำลังกายเล็กน้อย ขณะดูผู้อื่นออกกำลังกาย เมซฟีลด์ก็เตือนว่าไม่มีอะไรดีเท่ากับการได้ออกกำลังกายด้วยตนเอง
“แม้ว่าการดูผู้อื่นออกกำลังกายอาจ จะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และการตอบสนองทางสรีรวิทยาอื่นๆ แต่ก็ไม่มีอะไรจะให้ประโยชน์ได้เท่ากับการลุกขึ้นจากโซฟาหน้าทีวีอีกแล้ว” เขากล่าวทิ้งท้าย