รอยเตอร์/เอพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - เนปาลเริ่มต้นกระบวนการลงคะแนนในวันอังคาร (19) เพื่อเลือกตั้งสมาชิกเข้าไปนั่งในสภาพิเศษเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศ ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนว่า ภาวะความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่รุมเร้าประเทศมานานหลายปี นับตั้งแต่ที่มีการยกเลิกระบอบกษัตริย์ อาจจบสิ้นลง แม้จะมีความเป็นไปได้ที่การเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจทำให้ประเทศแตกแยกยิ่งกว่าเดิม
บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของเนปาล โดยเฉพาะอินเดียและจีน ต่างมีความวิตกที่เพิ่มขึ้นต่อวิกฤตทางการเมืองในดินแดนที่ไร้ทางออกสู่ทะเล และเป็นที่ตั้งของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่าง “เอเวอเรสต์” แห่งนี้ หลังจากที่เนปาลยังคง “ล้มลุกคลุกคลาน” ไม่สามารถสร้างระบอบการปกครองในรูปแบบของสาธารณรัฐที่มีเอกภาพและเสถียรภาพได้เลย หลังจากที่ระบอบกษัตริย์ที่ปกครองประเทศมานานหลายร้อยปี ถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2008 หลังเกิดสงครามกลางเมืองและการปฏิวัติของกลุ่มนิยมลัทธิเหมา
หลายฝ่ายกังวลว่า ดินแดนขนาดเล็กที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสูงและเป็นบ้านของประชากรเกือบ 27 ล้านคน ที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว, การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานเนปาลในต่างแดน รวมถึงเงินช่วยเหลือจากนานาชาติอาจกลายเป็นสวรรค์ของกลุ่มติดอาวุธและแก๊งอาชญากร หากยังคงไม่สามารถหาทางออกให้กับวิกฤตทางการเมืองได้ในเร็ววัน
ก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญในเนปาลมาแล้วหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2008 แต่ความพยายามในครั้งนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าเนื่องจากพรรคการเมืองทั้งหลาย ไม่สามารถตกลงประนีประนอมจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ ขณะที่ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เนปาลต้องเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้วถึง 5 ชุด สะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างเลวร้าย
รายงานข่าวระบุว่า กองทัพเนปาลได้ส่งทหารไปประจำการรักษาความปลอดภัยตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ รวมถึงในกรุงกาฐมาณฑุในวันอังคาร (19) ขณะที่บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างเดินทางมาต่อแถวเพื่อรอลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 601 คน ที่จะเข้าไปทำหน้าที่เสมือนเป็น “รัฐสภาชั่วคราว” และตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นบริหารประเทศจนกว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น
แม้ประชาชนจำนวนมากจะคาดหวังว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจนำไปสู่การสิ้นสุดของวิกฤตทางการเมืองที่รุมเร้าประเทศมานาน แต่ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เกรงว่าการเลือกตั้งหนนี้อาจทำให้เนปาลประสบภาวะแตกแยกมากยิ่งขึ้น
การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่า เป็นความพยายามแย่งชิงอำนาจของบรรดานักการเมืองจากพรรคเนปาลี คองเกรส ปาร์ตี้ อันเก่าแก่ กับกลุ่มการเมืองของพวกนิยมลัทธิเหมา (Unified Communist Party of Nepal) ซึ่งเข้าร่วมการต่อสู้บนถนนสายการเมืองหลังข้อตกลงสันติภาพในปี 2006 รวมถึงกลุ่มการเมืองที่ต้องการให้ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ในเนปาลขึ้นมาใหม่
ขณะที่สมาชิกบางส่วนที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มการเมืองของพวกนิยมลัทธิเหมา ประกาศจับมือกับอีก 33 พรรคการเมืองเพื่อ “คว่ำบาตร” การเลือกตั้งครั้งนี้
ด้านประธานาธิบดีราม บารัน ยาดาฟแห่งเนปาลเผยว่า ชาวเนปาลต้องการส่งสัญญาณไปยังประชาคมระหว่างประเทศว่า ประเทศของตนยังมีความสามารถในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนำประเทศกลับคืนสู่ความสงบสุข
ทั้งนี้ ข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคงในเนปาลล่าสุดระบุว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บไปแล้วอย่างน้อย 30 รายจากเหตุระเบิดในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่กระบวนการนับคะแนนจะเริ่มขึ้นในวันพุธ (20) และคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกกว่าสัปดาห์จึงจะพอเห็นภาพที่ชัดเจนของผลการเลือกตั้งคราวนี้ เนื่องจากอุปสรรคด้านสภาพภูมิประเทศในหลายพื้นที่ของเนปาล