xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยสหรัฐฯ เตือนอย่าประมาทโครงการ “ขีปนาวุธข้ามทวีป” ของโสมแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบบจำลองจรวด KN-08 ของเกาหลีเหนือซึ่งถูกนำมาโชว์ในพิธีสวนสนามเมื่อปี 2012 (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี – โครงการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ของเกาหลีเหนือยังคงก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้ง และอาจผลิตจรวดซึ่งมีศักยภาพพอที่จะส่งหัวรบนิวเคลียร์รุ่นแรกไปโจมตีได้ไกลถึงแผ่นดินอเมริกา สถาบันวิจัยชั้นนำของสหรัฐฯ เผยวันนี้ (5)

เว็บไซต์ 38North ของสถาบันสหรัฐฯ-เกาหลีแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ชี้ว่า แบบจำลองขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปซึ่งเปียงยางนำออกมาแสดงในพิธีสวนสนามทางทหารเมื่อไม่นานนี้อาจจะ “เก๊” น้อยกว่าที่คิดกันไว้

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างเย้ยหยันแบบจำลองขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปเคลื่อนที่ KN-08 ที่เกาหลีเหนือนำออกมาโชว์เมื่อปี 2012 และในเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยวิศวกรการบินผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งถึงกับบอกว่า มันดู “ประหลาด” ในทางเทคนิค และเป็นแค่ “การหลอกลวง” ของรัฐบาลโสมแดงเท่านั้น

อย่างไรก็ดี บทวิเคราะห์ที่เว็บไซต์ 38North เผยแพร่ไม่เห็นด้วยกับการประเมินเกาหลีเหนือต่ำเกินไปเช่นนั้น

“จะงามสง่าหรือไม่ก็ตาม... แต่แบบจำลองพวกนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เกาหลีเหนือมีศักยภาพพอที่จะนำชิ้นส่วนและเทคโนโลยีมาประกอบเป็นขีปนาวุธ ซึ่งอาจมีพิสัยยิงไกลตั้งแต่ 5,500 จนเกินกว่า 11,000 กิโลเมตรในทางทฤษฎี” บทวิเคราะห์ซึ่งเป็นงานเขียนร่วมระหว่าง เจฟฟรีย์ ลูอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และ จอห์น ชิลลิง วิศวกรการบิน ระบุ

“จากแบบจำลองทั้งหมดที่เราตรวจสอบมา พบว่าสามารถส่งหัวรบนิวเคลียร์รุ่นแรกที่มีน้ำหนักเบาไปได้ไกลถึงซีแอตเติลเป็นอย่างน้อย”

นักวิเคราะห์ทั้งสองระบุด้วยว่า ความบกพร่องที่เห็นได้ชัดในแบบจำลองจรวด KN-08 เมื่อปี 2012 ถูกปรับปรุงแก้ไขจนแทบไม่เหลือให้เห็นในพิธีสวนสนามใหญ่เมื่อ 4 เดือนก่อน นอกจากนี้ ลักษณะรอยต่อและหมุดยังถูกปรับให้คล้ายคลึงกับจรวด อึนฮา-3 ซึ่งสามารถส่งดาวเทียมสำรวจขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จมาแล้วเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ชิลลิง ได้เขียนไว้ในบทวิเคราะห์อีกชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร Science and Global Security ว่า KN-08 ยังเป็นขีปนาวุธที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา

“การที่เกาหลีเหนือยังไม่เคยทดสอบยิงขีปนาวุธรุ่นนี้มาก่อนหมายความว่า การใช้งานจริงอาจจะต้องรอไปอีกหลายเดือน หรืออาจจะหลายปี”

วิศวกรรายนี้กล่าวเสริมว่า ต่อให้การทดสอบสำเร็จลุล่วง KN-08 ก็ยังคงเป็นขีปนาวุธที่เชื่อถือไม่ได้นัก, ขาดทั้งความคล่องตัวและประสิทธิภาพ และยังมีจำนวนน้อยมาก

ลูอิส และ ชิลลิง ยังอ้างถึงผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดที่บ่งชี้ว่า เกาหลีเหนือกำลัง “อัพเกรด” ฐานยิงขีปนาวุธโซแฮเพื่อรองรับจรวดที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม

แม้ความสำเร็จในการยิงดาวเทียมของเกาหลีเหนือเมื่อเดือนธันวาคมจะสร้างความกังวลไม่น้อยต่อนานาชาติ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จรวดอึนฮา-3 ยังขาดเทคโนโลยีในการนำกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก (re-entry technology) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของจรวดพิสัยไกลข้ามทวีป
กำลังโหลดความคิดเห็น