เอเอฟพี – วุฒิสภาเม็กซิโกผ่านร่างกฎหมายเก็บภาษี “อาหารขยะ” (junk food) เมื่อวานนี้ (30) ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบริษัทอาหารและเครื่องดื่มที่ระบุว่า มาตรการเก็บภาษีจะไม่ช่วยให้วิกฤตโรคอ้วนในแดนจังโก้บรรเทาลงได้
ภาษีอาหารขยะเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปงบประมาณที่ประธานาธิบดี เอ็นริเก เปนญา เนียโต พยายามเร่งผลักดันเพื่อให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น
วุฒิสภาแดนจังโก้โหวตสนับสนุน 72 ต่อ 2 เสียงให้รัฐเรียกเก็บภาษี 8% สำหรับอาหารที่ให้พลังงานเกิน 275 กิโลแคลอรีต่อ 100 กรัม เช่น ขนมขบเคี้ยว, เนื้อสะโพก, เนยถั่ว และไอศกรีม เป็นต้น
เนื่องจากอัตราภาษีที่เสนอสูงกว่า 5% ที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติไปก่อนหน้านี้ ร่างกฎหมายจึงต้องถูกส่งกลับไปให้สภาล่างพิจารณา และโหวตรับรองอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สนับสนุนภาษีอาหารขยะเชื่อว่า วิธีนี้จะช่วยให้จำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวานลดลง ซึ่งปัจจุบันพลเมืองเม็กซิโก 2 ใน 3 ของประเทศป่วยเป็นโรคอ้วน หรืออยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน
อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์มองว่าจุดมุ่งหมายแฝงของรัฐบาลอยู่ที่การสร้างรายได้เพิ่มมากกว่า เนื่องจากเม็กซิโกยังเก็บภาษีได้แค่ร้อยละ 13.7% ของจีดีพี ซึ่งนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกาที่เก็บภาษีได้ถึง 18.7% ของจีดีพี
สมาคมอาหารและเครื่องดื่ม ConMexico ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มต่างชาติ เช่น โคคาโคลา, เคลล็อกซ์, ดานอน และเนสท์เล ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่
เม็กซิโกมีสัดส่วนประชากรน้ำหนักเกินสูงยิ่งกว่าสหรัฐฯ และยังมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากที่สุดใน 34 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
วุฒิสภาแดนจังโก้อยู่ระหว่างอภิปรายเรื่องการเก็บภาษีพิเศษเครื่องดื่มผสมน้ำตาลจำนวน 2 เปโซต่อลิตร ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เม็กซิโกยังเป็นประเทศที่พลเมืองบริโภคน้ำอัดลมมากที่สุดในโลก คือประมาณ 163 ลิตรต่อหัวต่อปี