xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็น “ชี้” อิหร่านยังล้าหลังด้านสิทธิมนุษยชนไม่เปลี่ยน แม้มี ปธน.ยึดมั่นสายกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - จนกระทั่งตอนนี้อิหร่านยังไม่สามารถสร้างความก้าวหน้าในด้านสิทธิมนุษยชนได้ดีเท่าที่ควร เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ ด้านการเฝ้าระวังปัญหาสิทธิมนุษยชนในสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ ระบุในรายงานที่นำออกเผยแพร่วานนี้ (23 ต.ค.)

“สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านยังเป็นที่น่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ได้เลยว่ามีการแก้ไขปรับปรุงเกิดขึ้นในด้านต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือกลไกติดตามด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้เฝ้าสอดส่องจับตามอง” อาเหม็ด ชารีด ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านการเฝ้าระวังปัญหาสิทธิมนุษยชนในอิหร่านเผยในรายงาน

แม้ว่า ฮัสซัน โรฮานี ผู้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน จะได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่า จะแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว แต่ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นผู้นี้ระบุในรายงานที่นำเสนอต่อสมัชชาใหญ่ว่า เขาตรวจพบว่าในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ปี 2012 ถึงเดือนมิถุนายนปี 2013 อิหร่านได้ประหารชีวิตนักโทษไปถึง 724 ราย โดยที่ 202 ในจำนวนนั้นเพิ่งจะถูกประหารไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2013 นี้เอง

ทั้งนี้ ผู้ได้รับโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด และ ชาฮีด ได้เรียกร้องผ่านรายงานฉบับนี้ ให้รัฐบาลเตหะราน “หันกลับมาพิจารณากฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ผู้กระทำความผิดในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดต้องถูกประหารชีวิต ใหม่อีกครั้ง”

เขาเน้นย้ำด้วยว่า ให้สาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ “ประกาศเลื่อนการประหารชีวิตทั้งหมดไว้ก่อน ตลอดจนยุติการลงโทษประหารชีวิตในที่สาธารณะ เป็นต้นว่า การปาหิน และจำกัดโทษประหารชีวิตไว้สำหรับผู้กระทำความผิด ที่กฎหมายระหว่างประเทศพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้น”

นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษคนนี้ได้แสดงความกังวลในกรณีที่มีการจับกุมพวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และการกีดกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวดกวดขัน โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์

นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2013 ทางการอิหร่านได้จับกุมนักข่าวอย่างน้อย 40 คน และผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 29 คน โดยคนส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหา เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือโฆษณาชวนเชื่อ และเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของอิหร่านได้สั่งปิดร้านอินเทอร์เน็ตไปแล้ว 67 แห่ง อีกทั้งบล็อกเว็บไซต์ราว 5 ล้านเว็บไซต์ รายงานฉบับนี้เผย

อย่างไรก็ตาม ชาฮีดกล่าวว่า “ผมรู้สึกชื่นชมที่ประธานาธิบดีคนใหม่ออกมาให้คำมั่น และเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ... ผมไม่คิดว่าเขาจะมีเวลามากพอจะแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอิหร่านนานหลายปีได้มากมายนัก แต่ผมก็ยังหวังว่าเขาจะมีโอกาสได้ลงมือทำจริงๆ”

ทางด้าน นักการทูตอิหร่านเพิกเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้โดยชี้ให้เห็นว่า “อิหร่านตอนนี้ โดยเฉพาะภายหลังที่ประธานาธิบดีโรฮานีขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ได้อุทิศความพยายามเพื่อแก้ไขสภาวการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั้งภายใน และภายนอกประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง รายงานฉบับนี้เป็นผลิตผลของการดำเนินการที่ลำเอียง และไม่สร้างสรรค์ ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มประเทศที่หวังโจมตีการเมืองอิหร่าน โดยเป็นการนำข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง และล้าสมัยมามานำเสนอ”
กำลังโหลดความคิดเห็น