xs
xsm
sm
md
lg

ออสเตรเลียสร้างแนวกันไฟสำเร็จ UN ชี้ ‘ไฟป่า-โลกร้อน’ เกี่ยวกันชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - นักผจญเพลิงประสบความสำเร็จในการรวมไฟป่าสองจุด บริเวณใกล้ๆ นครซิดนีย์ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ก่อนที่มันจะลามไปรวมกันเอง และบวกเข้ากับไฟป่าใหญ่จุดที่สาม ซึ่งอาจส่งผลให้กลายเป็น “ไฟนรก” ที่เกินกว่าจะควบคุม ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นตอกนายกรัฐมนตรีแดนจิงโจ้ โดยชี้ว่าไฟป่าออสซี่กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีความเกี่ยวโยงกันอย่างแท้จริง พร้อมเตือนว่านโยบายการยกเลิกภาษีคาร์บอนอาจส่งผลเสียหายในระยะยาว

ทีมนักผจญเพลิงหลายพันคนที่ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในเขตป่าทางด้านตะวันตกของซิดนีย์ เพื่อพยายามดับไฟป่าครั้งใหญ่ ซึ่งปะทุขึ้นหลายจุดในพื้นที่ 1,600 ตารางกิโลเมตรของรัฐนิวเซาท์เวลส์ นับตั้งแต่มีกระแสลมแรงและความร้อนพุ่งสูงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยบ้านเรือนกว่า 200 หลัง ถูกเผาราบคาบไปแล้ว และอีกจำนวนมากได้รับความเสียหาย

แม้ยังมีผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียว ทว่า จากรายงานพยากรณ์อากาศที่ระบุว่า สภาพอากาศในวันพุธ (23) จะเลวร้ายกว่าที่คาดไว้ ทำให้ เชน ฟิตซ์ซิมมอนส์ ผู้อำนวยการสำนักงานดับเพลิงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออกมาเตือนเมื่อวันอังคารว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่มีภาระหน้าที่ใดๆ ออกจากเขตเทือกเขาบลูเมาเทนส์ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 75,000 คน แม้ทางการยังไม่มีแผนอพยพครั้งใหญ่ก็ตาม

ทั้งนี้ รายงานพยากรณ์อากาศคาดว่า อุณหภูมิในวันพุธจะอยู่ที่ราว 35 องศาเซลเซียส ความชื้นลดลง และกระแสลมแรง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่สภาพอากาศจะผ่อนคลายลงในวันรุ่งขึ้น

ที่ผ่านมานักผจญเพลิงสามารถดับหรือควบคุมไฟหลายสิบจุดในระหว่างไฟไหม้ป่าซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรัฐนี้ในรอบเกือบ 50 ปี โดยยังเหลืออีก 57 จุดที่ลุกไหม้ และในจำนวนนี้ 17 จุดที่ดูเหมือนยังไม่สามารถควบคุมได้

เทือกเขาบลูเมาเทนส์ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของออสเตรเลีย เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเนื่องจากไฟป่าลุกลามรุนแรงอย่างมากในเขตเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ ลิธโกว์

ฟิตซ์ซิมมอนส์ เผยว่า ไฟป่าสองจุดใกล้กับลิธโกว์และภูเขาเมาต์วิกตอเรียในเขตเทือกเขาบลูเมาเทนส์ ได้ถูกทำให้มาบรรจบกันด้วยเทคนิค “การเผากลับ” เพื่อสร้างพื้นที่โล่งที่จะกลายเป็นแนวกันไฟ ป้องกันการลุกลามไปรวมกับไฟป่าที่ยังควบคุมไม่ได้ในสปริงวูดและวินมาลี แล้วกลายเป็น “เมกะไฟร์” อย่างที่กลัวกันก่อนหน้านี้

แม้ประสบความสำเร็จในการสร้างแนวกันไฟ และไฟป่าในลิธโกว์ลดระดับเป็น “ติดตามและดำเนินการ” จากระดับ “สถานการณ์ฉุกเฉินสูงสุด” แต่ฟิตซ์ซิมมอนส์เตือนว่า ยังมีความเสี่ยงที่ไฟจะลุกลามไปยังเขตชุมชนในเบลล์และหมู่บ้านใกล้เคียง

ทั้งนี้ ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปในออสเตรเลียในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ แต่สภาพอากาศที่แห้งและอุ่นผิดปกติในฤดูหนาว ขณะที่อุณหภูมิในฤดูใบไม้ผลิพุ่งสูงทำสถิติ ส่งผลให้ฤดูไฟป่าของปี 2013-2014 มาถึงเร็วขึ้นกว่าธรรมดา พร้อมกับคำเตือนว่า ฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนั้นจะทั้งยาวนานและแห้งแล้ง

ไฟป่าครั้งรุนแรงนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในแดนจิงโจ้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงของไฟป่ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยที่ โทนี แอ็บบอตต์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้เคยวิจารณ์แนวคิดที่ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากฝีมือมนุษย์เป็นต้นเหตุของไฟป่าว่า “ไร้สาระทั้งเพ”

ทว่า ในระหว่างตอบข้อซักถามจากโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร คริสเตียนา ฟิเกอเรส เลขาธิการบริหารอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (UNFCCC) ระบุชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับไฟป่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง

ฟิเกอเรสเสริมว่า แม้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ยังไม่ได้ระบุความเชื่อมโยงโดยตรงของสองปรากฏการณ์นี้ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งบอกชัดเจนว่า คลื่นความร้อนในเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย กำลังเพิ่มสูงขึ้นและจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปทั้งในแง่อุณหภูมิและความถี่

ทั้งนี้ข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย ก็แสดงให้เห็นว่า ปีนี้เป็นปีที่อากาศร้อนที่สุด ลบสถิติในปี 2005 และเดือนที่ผ่านมายังเป็นเดือนกันยายนที่ร้อนที่สุดในแดนจิงโจ้ ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาวประมาณ 2.75 องศาเซลเซียส

ฟิเกอเรสเสริมว่า การตัดสินใจของแอ็บบอตต์ในการยกเลิกภาษีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่รัฐบาลชุดเดิมบังคับใช้ อาจต้องแลกกับต้นทุนมหาศาลทางการเมือง

“ขณะนี้เรากำลังจ่ายค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยไฟป่าและสภาวะแห้งแล้ง” ฟิเกอเรสยังเรียกร้องให้มีการรับมือกับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังทันที พร้อมเตือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเพียงบทนำของสถานการณ์เลวร้ายที่มนุษยชาติอาจเผชิญในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น