เอเจนซีส์ - วุฒิสภาสหรัฐฯ นัดประชุมกันในวันอาทิตย์ (13) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก ในความพยายามที่จะหาทางให้หน่วยงานรัฐบาลกลางได้กลับมาเปิดทำการ และหลีกเลี่ยงจากการที่ประเทศจะต้องผิดนัดชำระหนี้ โดยที่ก่อนหน้านั้น เวทีการประชุมของไอเอ็มเอฟ-เวิลด์แบงก์ ก็ได้ออกคำแถลงเร่งรัดให้วอชิงตันผ่าทางตัน ก่อนที่จะเกิดความหายนะ ซึ่งจะลุกลามสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
ภายหลังที่พวกสมาชิกรีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรกล่าวหาประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่าเป็นสาเหตุให้การเจรจาเมื่อวันเสาร์ (12) เพื่อขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลต้องล้มเหลวลง ทางด้านเหล่าผู้นำของทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตในวุฒิสภา ก็ได้พยายามร่วมมือกันหาทางออกจากวิกฤตการเมืองคราวนี้ โดยดิ๊ก เดอร์บิน ส.ว.เดโมแครตเผยว่า ต้องการบรรลุข้อตกลงสองฝ่ายก่อนที่ตลาดการเงินจะเปิดทำการในวันจันทร์ (14) นี้
ทั้งนี้ เหล่าผู้นำในสภาสูงต่างแสดงความปรารถนาแรงกล้าในการยุติ “วิกฤตชัตดาวน์” หรือการปิดหน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีงบประมาณก่อน (ปี 2012/13) สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา รวมทั้งมุ่งหาทางผ่อนคลายภัยคุกคามจากการที่สหรัฐฯอาจต้องผิดนัดชำระหนี้ ถ้าไม่มีการขยายเพดานการก่อหนี้ก่อนเส้นตายวันที่ 17 ตุลาคมนี้
แฮร์รี รีด ผู้นำเสียงข้างมากในสภาสูง ซึ่งเป็น ส.ว.สังกัดเดโมแครต เผยว่า ได้เจรจาเบื้องต้นกับมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำรีพับลิกันในสภาสูงเมื่อวันเสาร์ (12) โดยที่บรรยากาศเป็นไปอย่างฉันมิตร ทว่า ไม่มีข้อสรุปใดๆ โดยแมคคอนเนลล์แนะให้ใช้ข้อเสนอของซูซาน คอลลินส์ ส.ว.รีพับลิกัน เป็นต้นแบบในการหารือ แต่ตนไม่เห็นด้วย
ข้อเสนอดังกล่าวจะขยายเพดานการก่อหนี้จนถึงวันที่ 31 มกราคมปีหน้า และอัดฉีดงบประมาณชั่วคราวให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลกลางเป็นเวลา 6 เดือน แลกกับการต้องยกเลิกเก็บภาษีอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งเป็นมาตรการส่วนหนึ่งในกฎหมายปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่เรียกขานกันว่า “โอบามาแคร์”
ทั้งนี้ นอกเหนือจากผู้นำเดโมแครตไม่ต้องการที่จะอ่อนข้อในเรื่องโอบามาแคร์แล้ว พวกเขายังมีความกังวลกันว่า เนื่องจากงบประมาณปี 2012/13 ได้ถูกบังคับด้วยเงื่อนไขการตัดลดรายจ่ายแบบเหมารวมโดยอัตโนมัติ ดังนั้น การใช้มาตรการชั่วคราวแบบที่ให้นำงบประมาณฉบับดังกล่าวมายืดเวลาใช้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในทางเป็นจริงก็จะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณใช้จ่ายต่ำกว่าที่ทางพรรคเดโมแครตเสนอไว้สำหรับงบประมาณแผ่นดินปีต่อไปถึงราวๆ 70,000 ล้านดอลลาร์
ตัวโอบามาซึ่งเรียกประชุมเหล่าผู้นำเดโมแครตในสภาสูงเป็นการด่วน หลังจากที่การเจรจาของเขากับสภาล่างที่ควบคุมโดยรีพับลิกันได้ล้มคว่ำไอย่างไม่เป็นท่าแล้ว ประกาศชัดเจนว่า ต้องการข้อตกลงระยะยาว และคัดค้านข้อเสนอของจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากรีพับลิกัน ที่จะให้การขยายอำนาจการกู้ยืมของรัฐบาลออกไปอีกเพียงแค่ 6 สัปดาห์ โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯชี้ว่า นั่นจะทำให้รัฐบาลต้องกลับมาเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้อีกรอบในระหว่างช่วงเทศกาลจับจ่ายปลายปีพอดี
ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างโอบามากับพวกผู้นำสภาล่าง พวกผู้ช่วยของผู้นำเดโมแครตในวุฒิสภาระบุว่า ทันทีที่หน่วยงานของรัฐบาลกลางสามารถกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง และสหรัฐฯยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามกำหนด ฝ่ายเดโมแครตก็พร้อมจะเจรจากับฝ่ายรีพับลิกันในทุกเรื่อง ดังนั้น การที่โอบามากลับไม่ตอบตกลงตามเงื่อนไขของรีพับลิกันในสภาล่าง จึงทำให้ ส.ส.รีพับลิกันไม่น้อยรู้สึกหัวเสีย และเห็นว่าโอบามากลับลำแบบไม่อยู่ในร่องในรอย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11) มีอยู่ระยะหนึ่งที่ดูเหมือนกรอบโครงของข้อตกลงระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกัน กำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยมีการระบุถึงการเปิดทำการหน่วยงานรัฐหลายแห่งขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจเป็นการเปิดชั่วคราว นอกจากนั้นทั้งสองพรรคตกลงหารือกันต่อไปเกี่ยวกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณ การควบคุมรายจ่าย รวมทั้งอาจมีการพูดถึงการปฏิรูปโครงการสวัสดิการและกฎหมายภาษีบางส่วนอีกด้วย
แต่แล้วจู่ๆ ทำเนียบขาวที่รู้สึกว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่า ก็ได้ปฏิเสธแนวคิดในการขยายอำนาจในการกู้ยืมของรัฐบาลออกไปเพียง 6 สัปดาห์
ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นจากหลายสำนักระบุว่า คนอเมริกาหมดความอดทนมากขึ้นกับเทคนิคของรีพับลิกันที่บีบให้รัฐบาลต้องปิดหน่วยงานหลายแห่ง ขณะที่บริษัทธุรกิจและสมาคมการค้าต่างพยายามกดดันรัฐสภาเนื่องจากเส้นตายในการขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลใกล้เข้ามาทุกที
ทางด้าน จิม ยัง คิม ประธานธนาคารโลก เตือนระหว่างการแถลงปิดประชุมธนาคารโลก-กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อวันเสาร์ ว่าการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ดอกเบี้ยพุ่งทะยาน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจทรุด และก่อให้เกิดหายนะกับประเทศยากจน
ส่วนด้านคณะกรรมการกำหนดนโยบายของไอเอ็มเอฟก็ระบุว่า อเมริกาจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อจัดการผ่าทางตันที่สกัดกั้นการผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล ก่อนเส้นตายวันพฤหัสบดีนี้
คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟขานรับว่า ผลจากความล้มเหลวในการขยายเพดานการก่อหนี้และในการเปิดทำการหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯอีกครั้ง จะเทียบเท่าวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ทีเดียว
สำหรับ มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) สำทับว่า หากวิกฤตในอเมริกายืดเยื้อจะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจแดนอินทรีเองและเศรษฐกิจโลก
ธาร์มัน ชานมูกะรัตนัม รัฐมนตรีสิงคโปร์และประธานคณะกรรมการของไอเอ็มเอฟ ทิ้งท้ายว่า หากประเด็นงบประมาณสหรัฐฯ ยังไม่ได้รับการแก้ไขภายใน 6 เดือนเป็นต้นไป จะส่งผลกระทบทั่วโลกและทำลายความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ