เอเอฟพี/รอยเตอร์ – เกิดเหตุเหยียบกันตายบนสะพานที่อยู่นอกวัดฮินดูแห่งหนึ่งในวันอาทิตย์ (13 ต.ค.) ส่งผลมีผู้เสียชีวิตในอินเดียอย่างน้อย 91 ราย และยอดยังอาจเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีคนบางส่วนกระโจนลงไปในแม่น้ำเบื้องล่าง ตำรวจระบุ
“จำนวนผู้เสียชีวิตเวลานี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 91 คนแล้ว และยังมีอีก 10 รายซึ่งอยู่ในอาการสาหัสมาก” รองสารวัตร ดี.เค.อารยา ซึ่งเป็นตำรวจในพื้นที่กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ก่อนหน้านี้ เขาให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ 60 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 64 คน พร้อมบอกด้วยว่าจำนวนอาจเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 100 ราย
เขากล่าวต่อไปว่า ยังมี “มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน” ในเหตุหายนะที่เกิดขึ้นที่เขตดาเทีย ในรัฐมัธยประเทศ ซึ่งอยู่ภาคกลางของอินเดีย
อารยาบอกว่า เหตุเหยียบกันตายครั้งนี้มีชนวนเหตุมาจากการประโคมข่าวลือว่า สะพานแห่งนั้นอาจถล่มลงมาเพราะถูกรถแทร็คเตอร์พุ่งชน
“คนจำนวนมากต่างกลัวว่าตัวเองจะตกลงไปในแม่น้ำ แล้วไม่มีใครช่วย” เขาชี้
ขณะเกิดเหตุเหยียบกันตายครั้งนี้ มีคนราว 20,000 คนอยู่บนสะพานข้ามแม่น้ำสินธุแห่งนั้น แหล่งข่าวที่เป็นตำรวจรายอื่นๆ ระบุ ขณะที่จำนวนของผู้ศรัทธาทั้งหมดนั้นมีมหาศาลถึง 400,000 คนโดยพวกเขาอยู่กันภายในและรอบๆ บริเวณวัดในเขตดาเทียแห่งนี้ ทั้งนี้เขตดังกล่าวอยู่ห่างจากโภปาล เมืองหลวงของรัฐมัธยประเทศไปทางเหนือราว 350 กิโลเมตร
เครือข่ายโทรทัศน์เอ็นดีทีวีของอินเดียรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในที่เกิดเหตุว่า ตำรวจทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ด้วยการเข้าควบคุมฝูงชน โดยใช้ไม้กระบองขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ลาธิส ไล่ตีฝูงชน ทว่าอารยาปฏิเสธข่าวนี้และยืนยันว่า “ไม่มีการใช้ไม้กระบองไล่ตีแต่อย่างใด”
ทั้งนี้ ชาวฮินดูกำลังเฉลิมฉลองช่วงสิ้นสุดเทศกาลนวราตรี ซึ่งเป็นพิธีไหว้เทพเจ้าทุรคา ของศาสนาฮินดู ที่ดึงดูดให้ผู้ศรัทธาหลายล้านคนพากันไปรวมตัวกันเคารพสักการะที่วัด โดยเฉพาะทางภาคเหนือของอินเดีย
อินเดียเป็นประเทศมีประวัติการเหยียบกันตายตามงานเทศกาลทางศาสนามานานแล้ว โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากการเหยียบกันตาย 36 ราย ขณะที่บรรดาผู้จาริกแสวงบุญมุ่งหน้ากลับบ้านจากเทศกาลกุมภ์เมลาที่ตลิ่งแม่น้ำคงคา
เมื่อเดือนมกราคม ปี 2012 ผู้ศรัทธาชาวฮินดูเสียชีวิตราว 102 คนเนื่องจากเหยียบกันตายในรัฐเกรละ และเมื่อเดือนกันยายนปี 2008 ก็มีที่ผู้จาริกแสวงบุญเสียชีวิต 224 คน ขณะผู้สักการะหลายพันคนพยายามวิ่งไปยังวัดบนยอดเนินในเมืองโชธปุระ ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15