xs
xsm
sm
md
lg

‘ลาว’รัดเข็มขัดคุมการใช้จ่ายขณะที่‘ไอเอ็มเอฟ’ก็ส่งเสียงเตือน

เผยแพร่:   โดย: ปรเมศวรัน ปอนนูดูไร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Laos tightens belt with IMF warning
By Parameswaran Ponnudurai
07/10/2013

ลาวกำลังพยายามหาทางรัดเข็มขัดคุมเข้มการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เข้มงวดยิ่งขึ้น หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนให้ระมัดระวังว่าปริมาณหนี้สินสาธารณะของลาวกำลังสร้างความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา อย่างไรก็ดี สำหรับแผนการที่จะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการอีกร่วมๆ 40% นั้น จะยังคงเดินหน้าต่อไป

ประเทศลาวที่อยู่ในภาวะหนี้สินรุงรัง ได้รับการบอกกล่าวจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้เพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการใช้จ่ายของตน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่โตรุนแรงขึ้นมา

คณะผู้แทนของไอเอ็มเอฟ ได้เดินทางยังนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อการปรึกษาหารือประจำปีกับรัฐบาลลาว โดยที่ฝ่ายไอเอ็มเอฟได้แสดงความเป็นห่วงเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจของลาว ทั้งในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มสูง, ระบบการธนาคาร, การใช้จ่ายภาคสาธารณะ, การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ, และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่กำลังลดต่ำ ทั้งนี้ตามการแถลงของเจ้าหน้าที่หลายรายของไอเอ็มเอฟซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน

“มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดความอ่อนแอเปราะบางในด้านต่างๆ ลงมา, เพิ่มเติมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ, และดำเนินการให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาอย่างนิ่มนวล (soft landing)” อัศวิน อาฮูจา (Ashvin Ahuja) ผู้นำคณะทำงานของไอเอ็มเอฟไปหารือกับฝ่ายลาวระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม ถึง 12 กันยายน กล่าวในตอนที่เขาเดินทางกลับถึงเมืองหลวงของสหรัฐฯ

คำเตือนของไอเอ็มเอฟคราวนี้ ปรากฏออกมาขณะที่รัฐบาลลาวกำลังประสบปัญหารายได้ไม่พอจับจ่ายอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งนายกรัฐมนตรี ทองสิง ทำมะวง ต้องสั่งการในเดือนที่แล้ว ให้บรรดารัฐมนตรีและกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังควบคุมรายจ่าย เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการชำระหนี้สินและหลีกเลี่ยงจากวิกฤตทางการเงิน

“กล่าวในภาพรวมแล้ว ลาวกำลังประสบปัญหาการมีหนี้สินในระดับสูง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางการเงิน” นายกฯทองสิงแถลง ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์ (Vientiane Times) ที่อยู่ในการควบคุมของรัฐ “นี่หมายความว่าเราควรต้องคอยควบคุมอย่างใกล้ชิดในเรื่องการลงทุนทุกๆ ด้าน และเพิ่มความชัดเจนให้แก่จุดเน้นหนักของเรา ในช่วงปีงบประมาณปี 2013-14 ที่กำลังจะมาถึงนี้”

ขณะที่ รัฐมนตรีคลัง พูเพ็ด คำพูวง ก็แถลงในที่ประชุมรัฐสภาแห่งชาติเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ในตอนนั้นภาระหนี้สินของรัฐบาลลาวอยู่ในระดับเท่ากับ 29.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้อัตราส่วนยอดหนี้สินสาธารณะต่อจีดีพีนี้ ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง

**ชะลอการชำระหนี้**

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนในเฉพาะหน้านี้ว่า หลังจากนั้นมาระดับหนี้สินสาธารณะของลาวได้มีการเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ตามรายงานของเวียงจันทน์ไทมส์ ตัวนายกรัฐมนตรีทองสิงกล่าวว่า “เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์กลับพลิกฟื้นคืนดีขึ้นมา” รัฐบาลจะชะลอการชำระเงินที่ติดค้างพวกผู้รับเหมาต่างๆ ที่กำลังจัดทำดำเนินโครงการของลาวเอง เพื่อเป็นการ “บรรเทาความตึงตัวในปัญหาทางการเงินและทางด้านเงินตราของประเทศ”

ขณะที่ อาฮูจา แห่งไอเอ็มเอฟ ได้ระบุในรายงานฉบับหนึ่งในสัปดาห์ที่แล้วว่า ภาวะเงินเฟ้อในลาว “กำลังเร่งตัวขึ้นเรื่อยๆ” โดยเป็นผลจากการที่ราคาอาหารสดกำลังสูงขึ้น และอัตราการเติบโตของสินเชื่อก็กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องมาจากแรงขับดันของการใช้จ่ายของภาครัฐ และสภาวการณ์เช่นนี้ ยัง “กำลังก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความแข็งแรงของระบบการธนาคาร” ของลาว

“ภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ได้ทรุดหนักลงอย่างสำคัญทีเดียว ซึ่งเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการปรับสูงขึ้นของค่าเงินตราเมื่อคำนวณตามมูลค่าแท้จริง, การขาดดุลการคลังที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ, และอุปสงค์ความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่ง” เขากล่าวต่อ

อาฮูจา ยังเรียกร้องให้ลาวสะสมเพิ่มพูนทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของตน เพื่อเป็นการ “เผื่อเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น” พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่า “การขยายตัวทางการคลังที่กำลังดำเนินไปเรื่อยๆ อยู่ในเวลานี้ ได้เร่งให้เกิดความอ่อนแอเปราะบางในหลายๆ ด้านขึ้นมา”

เขากล่าวว่า ลาวจำเป็นที่จะต้องทำให้นโยบายการคลังของตน หวนกลับคืนเข้าสู่ “เส้นทางแห่งการรวมศูนย์เพิ่มความแข็งแกร่ง” ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้

ในเรื่องนี้ เขาบอกว่าจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษี ทั้งในด้านการขยายฐานภาษี และการยกเลิกข้อยกเว้นต่างๆ ในเวลาเดียวกับที่ทำให้ด้านรายจ่ายมีความสมเหตุสมผล โดยมุ่งเน้นหนักให้ลำดับความสำคัญสูงแก่เรื่องการใช้จ่ายและการลงทุนในทางสังคม

อาฮูจากล่าวด้วยว่า เงินกีบ ที่เป็นสกุลเงินตราของลาว ก็ควรที่จะมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงให้สอดคล้องกับเงื่อนไขต่างๆ ของตลาดตลอดจนพัฒนาการต่างๆ ทางภายนอกประเทศ

สำหรับเป้าหมายด้านสินเชื่อนั้นควรที่จะลดต่ำลง ขณะที่การกำกับตรวจสอบภาคการเงินจะต้องเพิ่มให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องมีมาตรการด้านกฎหมายข้อบังคับต่างๆ ให้พรักพร้อมเพื่อทำให้การกู้ยืมลดน้อยลง อาฮูจากล่าวต่อ ทั้งนี้ระหว่างการเยือนเวียงจันทน์ เขาได้มีโอกาสพบปะหารือกับทั้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของลาว, พวกตัวแทนของชาติและองค์การระหว่างประเทศซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่ลาว, ตัวแทนของภาคเอกชน, ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่นๆ

“ถ้าหากสามารถดำเนินนโยบายต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็จะช่วยให้บรรลุอัตราเติบโตในระดับสูงอย่างยั่งยืนในช่วงระยะกลาง”

**เงินเฟ้อพุ่งสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ**

เศรษฐกิจของลาวในเวลานี้กำลังเติบโตขยายตัวในอัตราประมาณปีละ 8% โดยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากภาคเหมืองแร่และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

โฆษกรัฐบาลลาว บุนเพ็ง มูนโพไซ ออกมาแถลงในสัปดาห์ที่แล้วภายหลังการประชุมหารือที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า พวกผู้เข้าร่วมประชุมต่างยอมรับว่าลาวกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายๆ ด้าน โดยหนึ่งในนั้นคือการที่อัตราเงินเฟ้อตามคาดการณ์ จะอยู่ในระดับที่เพิ่มสูงกว่าอัตราเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ตามรายงานของเวียงจันทน์ไทมส์

ในการแถลงคราวนี้ โฆษกหญิงของรัฐบาลลาวผู้นี้ไม่ได้ให้ตัวเลขใดๆ แต่ไอเอ็มเอฟได้เคยรายงานไว้เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของลาวอยู่ในระดับสูงกว่า 7%

โฆษกรัฐบาลลาวยอมรับว่า รายจ่ายของภาครัฐได้เพิ่มสูงขึ้น “อย่างสำคัญ” ขณะที่รายรับอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดหมายกันไว้ และนี่ก็เป็นความท้าทายอีกประการหนึ่ง หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์รายงาน

นอกจากนั้น เวียงจันทน์รายงานอ้างคำแถลงของเธอว่า รัฐบาลลาวยัง “กำลังต่อสู้อย่างหนัก” กับเรื่องการชำระหนี้ ในเวลาเดียวกับที่การจ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้แก่ข้าราชการพนักงานของรัฐในบางแขวง (จังหวัด) ประสบความล่าช้า

โฆษกรัฐบาลลาวยอมรับว่า เพื่อผ่อนเบาภาระทางการเงิน รัฐบาลอาจจะต้องระงับการจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพเดือนละ 760,000 กีบ (เกือบๆ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่ให้แก่ข้าราชการพนักงานของรัฐ

อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่า รัฐบาลยังจะรักษาคำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการพนักงานของรัฐในระดับเกือบๆ 40% ต่อไป

รายงานโดย วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว (Radio Free Asia's Lao Service)

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น