xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีการจัดทำ “คติพจน์เหมาเจ๋อตง” เล่มใหม่?

เผยแพร่:   โดย: ซี หวาง

พวกเรดการ์ดในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน พากันชูหนังสือ คติพจน์เหมาเจ๋อตง ระหว่างชุมนุมกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

No new "Little Red Book" - that's official
By Xi Wang
04/10/2013

มีรายงานข่าวระบุว่า นักวิชาการด้านการทหารของจีนผู้หนึ่งกำลังจัดเตรียมต้นฉบับหนังสือเล่มใหม่ ซึ่งตลอดทั้งเล่มเป็นการคัดสรรเอาข้อความสั้นๆ จากงานเขียนและคำกล่าวในที่ต่างๆ ของ เหมา เจ๋อตง ผู้นำสูงสุดที่ล่วงลับไปแล้วของแดนมังกร มาเรียงร้อยจัดหมวดหมู่ ทำนองเดียวกับหนังสือ “คติพจน์เหมาเจ๋อตง” ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่มีติดตัวไม่ได้ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ปรากฏว่าข่าวนี้ทำให้ปักกิ่งรู้สึกร้อนอกร้อนใจจนต้องรีบออกมาปฏิเสธโดยเร็วว่า ไม่ได้มีการจัดทำ “คติพจน์เหมาเจ๋อตง” เวอร์ชั่นใหม่เพื่อนำออกมาตีพิมพ์เผยแพร่กันแต่อย่างไร ในขณะที่ เฉิน อี๋ว์ นักวิชาการผู้ที่ถูกระบุถึงนี้เอง บอกว่าหนังสือของเขาเป็นเพียง “การวิจัยทางวิทยาศาสตร์” เท่านั้น แต่กระนั้นพวกนักวิจารณ์กลับมีความเห็นว่า ถึงอย่างไรโครงการนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกโหยหาอดีตของประชาชนจีน ในท่ามกลางความตึงเครียดทางสังคมที่กำลังทวีขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

มีรายงานข่าวระบุว่า นักวิชาการด้านการทหารชาวจีนผู้หนึ่ง กำลังจัดทำต้นฉบับหนังสือเล่มใหม่ ซึ่งตลอดทั้งเล่มเป็นการคัดสรรเอาข้อความสั้นๆ จากงานเขียนและคำกล่าวในที่ต่างๆ ของ เหมา เจ๋อตง ผู้นำสูงสุดที่ล่วงลับไปแล้วของแดนมังกร มาเรียงร้อยจัดหมวดหมู่ ทำนองเดียวกับหนังสือ “คติพจน์เหมาเจ๋อตง” ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่มีติดตัวไม่ได้ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ข่าวนี้ทำให้มีนักวิจารณ์ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า มันเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกโหยหาอดีตแห่งยุคเหมาอิสต์ครองเมือง ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นผู้ปกครองแดนมังกรอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าสำนักข่าวซินหวาของทางการจีนได้ออกมาโต้แย้งว่า รายงานข่าวในเรื่องนี้ “เป็นการเข้าใจผิด”

หนังสือพิมพ์หนานฟางตูซื่อเป้า (Southern Metropolis Daily) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองกว่างโจว และขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความล้ำสมัย รายงานเอาไว้เมื่อตอนสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า เวอร์ชั่นใหม่ของหนังสือ “คติพจน์เหมาเจ๋อตง” (Chairman Mao's Quotations') หรือที่รู้จักเรียกขานกันในโลกตะวันตกว่า “หนังสือสีแดงเล่มน้อย” (Little Red Book) นี้ จะมีนักวิชาการจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีนผู้หนึ่งทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ และมีกำหนดจะจัดพิมพ์ออกมาต้อนรับวาระวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 120 ปีของเหมา เจ๋อตง ในเดือนธันวาคมปีนี้

ขณะที่ เฉิน อี๋ว์ (Chen Yu) บรรณาธิการของหนังสือเวอร์ชั่นใหม่เล่มนี้ ซึ่งโดยอาชีพแล้วเป็นนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์การทหาร (Academy of Military Sciences) หน่วยงานสังกัดกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ก็ยืนยันกับสื่อมวลชนฮ่องกงว่า ข่าวนี้เป็นความจริง พร้อมกับเรียกงานที่ตนกำลังทำอยู่ว่าเป็น “การวิจัยทางวิทยาศาสตร์”

“มันเป็นเพียงการตีพิมพ์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เป็นการนำเอาคติพจน์ประธานเหมากลับมาตีพิมพ์ใหม่” เฉิน บอกกับหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) ของฮ่องกง

แต่ปรากฏว่า สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนได้ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวเกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่นี้

“จากการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐแห่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เรามีความเข้าใจว่ารายงานข่าวที่แพร่กระจายออกมาทางอินเทอร์เน็ตในเรื่องเกี่ยวกับ “คติพจน์ประธานเหมาเวอร์ชั่นใหม่”อาจจะมีการตีพิมพ์ออกมาภายในปีนี้นั้น เป็นเพียงรายงานที่เกิดจากความเข้าใจผิดโดยแท้” ซินหวาระบุ ทว่าสำนักข่าวของทางการจีนแห่งนี้ก็ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ในเรื่องที่ว่า หนังสือที่เฉินเป็นบรรณาธิการเล่มนี้ ในที่สุดแล้วจะมีการตีพิมพ์ออกมาหรือไม่ หรือจะตีพิมพ์กันเมื่อใด

**ของติดตัวที่ขาดไม่ได้**

“คติพจน์เหมาเจ๋อตง” หรือ “หนังสือสีแดงเล่มน้อย” เคยถือเป็นของติดตัวชนิดขาดไม่ได้สำหรับนักนักปฏิวัติที่เดินแนวทางการเมืองอันถูกต้องเที่ยงแท้ทั้งหลาย ในช่วงยุคความปั่นป่วนยุ่งเหยิงทางการเมืองในแดนงมังกรที่เรียกกันว่า ยุคปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution ปี 1966-1976) ภายหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์กองทัพปลดแอกประชาชนจีนในปี 1964 แล้ว หาน กัง (Han Gang) นักประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีน บอกกับหนังสือพิมพ์หนานฟางตูซื่อเป้า ว่า โครงการของเฉิน ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมจีนเกิดความตึงเครียดอย่างใหญ่โตและมีความขัดแย้งอันสลับซับซ้อน ตลอดจนมีการปะทะกันในทางค่านิยม

“เวอร์ชั่นใหม่ของหนังสือคติพจน์ประธานเหมา เป็นตัวแทนของการหวนกลับไปสู่อดีตในเชิงสัญลักษณ์ แต่แน่นอนทีเดียวว่ามันไม่ได้เป็นเพียงแค่การโหยหาอดีตธรรมดาๆ” หนังสือพิมพ์ดังกล่าวอ้างคำพูดของหาน

“บางทีมันอาจจะเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกไม่สบายใจกับความเป็นจริงในปัจจุบันของเรามากกว่า”

พวกนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า คำกล่าวของเหมาที่ได้รับการคัดสรรรวบรวมกันใหม่ในเล่มนี้ น่าที่จะสะท้อนความรู้สึกของคนจำนวนมากภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ว่า เวลานี้พรรคได้หันเหเบี่ยงเบนออกมาไกลเกินไปแล้วจากรากเง่าทางอุดมการณ์ของตน

“ผมคิดว่าหนังสือเล่มใหม่นี้เป็นตัวแทนของการหวนคิดถึงความรุ่งเรืองต่างๆ ในอดีตในส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” หลิว ชิง (Liu Qing) นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ “นี่คือปรากฏการณ์แบบการรำพึงรำพันในตอนใกล้จะตายธรรมดาๆ นี่เอง”

**ทุจริตคอร์รัปชั่นและใช้อำนาจโดยมิชอบ**

หลิวกล่าวว่า พวกผู้นำจีนออกมาเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าพรรคอาจจะสูญเสียอำนาจได้ ถ้าหากยังคงปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจโดยมิชอบอยู่อย่างโจ๋งครึ่มครึกโครมต่อไปอีกโดยไม่มีการทัดทาน การกล่าวเตือนของพวกเขาเช่นนี้ย่อมเท่ากับ “ยอมรับ” ว่าระบอบปกครองนี้กำลังเจ็บป่วยไปจนถึงแกนกลางแล้วนั่นเอง

“คณะผู้นำชุดใหม่ (ที่นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง) รู้สึกว่าพวกเขาได้หันเหเบี่ยงเบนออกมาไกลเกินไปแล้วจากอุดมการณ์แบบเหมาอิสต์ แล้วพวกเขาก็ไม่มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เหลืออยู่แล้วสำหรับการนำเอาออกมท่องบ่นสาธยาย” เขากล่าว

“ดังนั้นพวกเขาจึงกำลังนำเอาคติพจน์ประธานเหมาออกมาท่องจำกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

สำหรับ หลี่ หงกวน (Li Hongkuan) นักวิชาการด้านจีนซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯอีกผู้หนึ่งให้ความเห็นว่า แรงจูงใจที่จะนำเอาคติพจน์เหมาเจ๋อตงมาจัดพิมพ์กันใหม่นี้ ไม่น่าจะเป็นแรงจูงใจเชิงพาณิชย์ไปได้เลย

“เหตุผลเพียงอย่างเดียวที่ทำให้หนังสือนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นจำนวนมากมายถึงขนาดนี้ในอดีตที่ผ่านมา ก็เพราะว่ามันเป็นหนังสือที่ทางรัฐบาลนำเอาออกมาแจกจ่ายกันฟรีๆ” หลี่ บอก

“คนธรรมดาสามัญไม่เคยซื้อหามาด้วยตัวพวกเขาเองกันหรอก และผมก็ไม่คิดว่าฉบับพิมพ์ครั้งใหม่นี้จะทำเงินทำทองอะไรได้ด้วย”

ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์แห่งฮ่องกง หนังสือเวอร์ชั่นใหม่นี้จะตั้งราคาขายเอาไว้ที่เล่มละ 2,000 หยวน (ราว 10,500 บาท) เกือบๆ 3 เท่าตัวของเงินรายได้ต่อเดือนของคนจีนที่พำนักอาศัยในเขตชนบททั่วๆ ไปทีเดียว โดยที่ข้อความสั้นๆ ที่คัดมาจากงานเขียนและคำกล่าวในที่ต่างๆ ของเหมานั้น ชิ้นใดจะนำเอามาตีพิมพ์ จะเป็นข้อความซึ่งถูกระบุว่า “ให้แรงบันดาลใจอย่างสูงสุด” จากบุคคล 20 คนที่มีอาชีพความเป็นมาหลากหลาย ตั้งแต่นักศึกษา ผู้อยู่ในแวดวงธุรกิจ ไปจนถึงนักวิชาการ ซึ่งทางผู้จัดพิมพ์ใช้เป็นตัวอย่างทำการประเมินทดสอบ

ซี หวาง (Xi Wang) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ให้แก่วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาจีนกลาง (Radio Free Asia's Mandarin Service) ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie) และ เจนนิเฟอร์ โจว (Jennifer Chou) เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie) เป็นผู้เขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น