เอเอฟพี – อลิซ มุนโร นักเขียนหญิงชาวแคนาดา คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2013 ไปครองเมื่อวานนี้ (10) จากผลงานเรื่องสั้นที่สะท้อนถึงความเปราะบางของมนุษย์ และเป็นสตรีคนที่ 13 ของโลกที่ได้รับรางวัลนี้
สถาบันวิชาการสวีเดน (The Swedish Academy) ซึ่งเป็นผู้ตัดสินรางวัล เอ่ยถึง มุนโร วัย 82 ปี ว่าเป็น “นักแต่งเรื่องสั้นร่วมสมัยชั้นครู” ซึ่งไม่บ่อยนักที่วรรณกรรมประเภทนี้จะถูกพิจารณาว่ายอดเยี่ยมถึงขั้นสมควรได้รับรางวัลโนเบล
มุนโร กล่าวเปิดใจว่า “ประหลาดใจอย่างยิ่ง” และรู้สึกยินดีที่สุด เมื่อบุตรสาวเดินมาปลุกและแจ้งข่าวดีให้ทราบว่า เธอคว้ารางวัลอันทรงเกียรติที่สุดของโลกในด้านวรรณกรรม
“ดิฉันทราบว่าได้รับการเสนอชื่อ แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะชนะรางวัล” มุนโร ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ ซีบีซี ของแคนาดา พร้อมยอมรับว่า ตนเองมองว่าการคว้ารางวัลโนเบลเป็นเพียง “วิมานในอากาศ” ที่ “อาจเกิดขึ้นจริง แต่ก็คงจะไม่”
สถาบันวิชาการสวีเดนยกย่อง มุนโร ว่าเป็น “นักเล่าเรื่องที่มีกลเม็ดเด็ดพราย ใช้สำนวนภาษาชัดเจน และสะท้อนความจริงในจิตใจมนุษย์”
“นักวิจารณ์บางคนยกให้เธอเป็น (อันทวน) เชคอฟ แห่งแคนาดา”
“เรื่องที่เธอเขียนมักจะมีฉากเป็นเมืองเล็กๆ บอกเล่าเรื่องราวของการดิ้นรนแสวงหาการยอมรับที่บ่อยครั้งนำมาสู่สายสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น และความขัดแย้งในจิตใจ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากช่องว่างระหว่างวัยและเป้าหมายชีวิตที่สวนทางกัน”
มุนโร เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 1931 ที่ย่านชนบทของเมืองวิงแฮม รัฐออนแทรีโอ เธอใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียนตั้งแต่อายุ 11 ปี และไม่เคยเปลี่ยนความตั้งใจในด้านอาชีพเลย
งานเขียนของ มุนโร จะใช้ฉากในประเทศแคนาดาเป็นหลัก โดยเธออธิบายว่า “เพราะฉันใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มานาน จนรู้สึกถึงความรำคาญใจที่คงจะหาไม่ได้จากที่อื่นที่ฉันไม่รู้จักคุ้นเคยดีเท่านี้”
มุนโร แต่งเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย เช่น “Who Do You Think You Are?” (1978), “The Moons of Jupiter” (1982), “Runaway” (2004), “The View from Castle Rock” (2006) และ “Too Much Happiness” (2009) เป็นต้น