xs
xsm
sm
md
lg

ตอลิบานขู่เด็ดหัวสาวน้อย “มาลาลา” ไม่พอใจได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชน “ซาคารอฟ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - กลุ่มนักรบตอลิบานขู่เอาชีวิต มาลาลา ยูซาฟไซ สาวน้อยนักเคลื่อนไหวชาวปากีสถานอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (10) ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเธอคว้ารางวัลสิทธิมนุษยชน “ซาคารอฟ” ของรัฐสภายุโรป หยันเด็กหญิงรายนี้ได้รับรางวัลเพราะทำงานต่อต้านอิสลาม

ท่ามกลางเสียงปรบมือดังกึกก้องหลังการประกาศรางวัลสิทธิมนุษยชน มาร์ติน ชูลซ์ ประธานสภายุโรป กล่าวว่า “มาลาลา กล้าหาญยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของเด็กทุกคนเข้าให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม สิทธิของเด็กผู้หญิงที่ถูกละเลยมานานแล้ว”

เด็กสาววัย 16 ปีได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้กับรูปแบบความรุนแรงในศาสนาอิสลาม หลังจากเธอถูกกลุ่มตอลีบานยิงที่ศีรษะจนได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมปีก่อน จากการที่เธอต่อสู้เพื่อให้เด็กผู้หญิงในปากีสถานได้รับการศึกษา ต่อมาเธอก็กลายเป็นทูตด้านสิทธิการศึกษาของเด็กๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามไม่นานหลังมีการประกาศรางวัล “ซาคารอฟ” ทางกลุ่ม เตห์ริก-อี-ตอลิบาน อิสลามี ปากีสถาน (ทีทีพี) ก็ออกมาข่มขู่ครั้งใหม่แทบจะทันที ด้วยประกาศจะเอาชีวิตเธอ ไม่ว่าจะอยู่ในอเมริกาหรืออังกฤษ “เธอไม่ได้ทำอะไรเลย” โฆษกของทีทีพีบอกกับเอเอฟพี “เธอได้รับรางวัลเพียงเพราะเธอทำงานต่อต้านอิสลามเท่านั้น”

มาลาลา ถูกส่งตัวมารักษาที่อังกฤษ ตามหลังถูกยิงเมื่อปีที่แล้ว และเวลานี้เธอศึกษาที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองเบอร์มิงแฮม ทั้งนี้ มาลาลา ได้รับเกียรติกล่าวสุนทรพจน์ต่อสหประชาชาติ ท่ามกลางเสียงสรรเสริญจากเหล่าผู้นำโลกต่อความกล้าหาญของเธอ และมีสิทธิ์กลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่จะมีการประกาศออกมาในวันศุกร์นี้ (11)
 มาลาลา ยูซาฟไซ สาวน้อยนักเคลื่อนไหวชาวปากีสถาน
อย่างไรก็ตามในการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ ซิตี 89 เอฟเอ็มของปากีสถานเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ มาลาลาบอกว่าตนเองยังไม่คู่ควรกับรางวัลดังกล่าว “มีหลายคนที่ควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและฉันคิดว่าตนเองต้องทำงานหนักกว่านี้” เธอระบุ

เวลานี้ยังไม่มีคำสัมภาษณ์ของเธอต่อการคว้ารางวัลสิทธิมนุษยชน “ซาคารอฟ” พร้อมกับเงินรางวัล 50,000 ยูโร ขณะที่จะมีการส่งมอบรางวัลนี้แก่สาวน้อยในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่เมืองสตาร์บูร์ก ของฝรั่งเศส วันที่ 20 พฤศจิกายน

ในอดีตมีคนดังมากมายที่เคยชนะเลิศรางวัลซาคารอฟ ในนั้นรวมถึง เนลสัน แมนเดลลา วีรบุรุษนักต่อต้านการเหยียดผิวชาวแอฟริกาใต้ และ โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็น ขณะที่ผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในปีนี้แข่งกับมาลาลา ก็มี 3 นักเคลื่อนไหวชาวเบลารุส และนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้ออกมาเปิดโปงโปรแกรมสอดแนมของสหรัฐฯ

ชาวเบลารุสทั้ง 3 อันได้แก่ อะเลส เบลยัตสกี, เอดูอาร์ โลบาอู และมืยโคลา สตัตเควิช ได้ถูกจำคุก หลังจากที่เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2010 เกิดการประท้วงใหญ่ในกรุงมินสก์ ของเบลารุส เพื่อต่อต้านการเลือกตั้งกลับเข้าดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งของประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค ส่วน สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของสหรัฐฯ ผู้ที่เปิดโปงว่าสหรัฐฯ ได้ลักลอบสอดแนมทั้งชาติพันธมิตรและชาติศัตรูอย่างกว้างขวาง กำลังลี้ภัยอยู่ที่รัสเซียในขณะนี้

เมื่อปีที่แล้ว มีการมอบรางวัลนี้ให้กับ 2 ชาวอิหร่าน คือ นัสริน โซตูเดห์ ทนายความที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ และจาฟาร์ ปานาฮี ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ “สนับสนุนให้อิหร่านเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

ขณะเดียวกันจากการเปิดเผยของรัฐสภายุโรปช่วงสัปดาห์นี้ ได้บอกว่าในที่สุดก็ดำเนินการมอบรางวัลแก่นางอองซาน ซูจี เรียบร้อยเสียที หลังจากเธอได้รับรางวัลนี้ตั้งแต่ปี 1990 ในช่วงที่รัฐบาลทหารพม่าปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก โดย นางซูจี ซึ่งเวลานี้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในพม่า และมีเป้าหมายลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2015 มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภายุโรปในวันที่ 22 ตุลาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น