เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรี อาลี ไซดาน แห่งลิเบีย ได้รับการปล่อยตัว และเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลแล้วในวันพฤหัสบดี (10 ต.ค.) หลังถูกกลุ่มผู้ถืออาวุธอุ้มจากโรงแรมที่พักของเขากลางเมืองหลวงในช่วงเช้ามืดวันเดียวกัน โดยเป็นที่ชัดเจนว่า การก่อเหตุคราวนี้เป็นการแก้แค้นที่กองทหารรบพิเศษหน่วย “ซีล” ของกองทัพเรืออเมริกาบุกจู่โจมจับตัวสมาชิกอาวุโสอัล-กออิดะห์ จากท้องถนนในกรุงตริโปลีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
โมฮัมเหม็ด กาบาร์ โฆษกรัฐบาลลิเบียเปิดเผยกับสำนักข่าวลานา ว่า ไซดานได้รับการปล่อยตัวแล้วและเดินทางไปทำงานทันที
ในเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรีผู้นี้ก็เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลในกรุงตริโปลี โดยที่ยังดูมีสุขภาพดีเป็นปกติ เขาก้าวออกจากยานหุ้มเกราะท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอันเข้มงวด และได้โบกมือให้กับประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ไปรอคอยต้อนรับ ขณะที่พวกรัฐมนตรีตลอดจนสมาชิกหลายคนของสมัชชาใหญ่แห่งชาติ (จีเอ็นซี) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองสูงสุดของลิเบีย ก็ต้อนรับเขาอยู่ที่ประตูทางเข้าทำเนียบ
สำนักข่าวเอพีระบุว่า แม้รายงานข่าวที่ออกมาค่อนข้างรวบรัด แต่ดูเหมือนกองกำลังอาวุธของทางการลิเบียเข้าแทรกแซงเรื่องนี้ โดยที่กลุ่มผู้ลักพาตัวไม่เต็มใจปล่อยไซดาน ซึ่งเป็นอดีตนักการทูตและนักเคลื่อนไหวต่อต้านกัดดาฟีที่เคยถูกเนรเทศไปนอกประเทศ
ไฮทัม อัล-ทาจูรี ผู้บัญชาการ “กองกำลังเสริม” ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบในตริโปลีที่รับงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับสถานีทีวีท้องถิ่นว่า ไซดานได้รับการปล่อยตัวหลังจากกลุ่มของตนบุกเข้าไปในบ้านที่ควบคุมตัวเขาอยู่
ด้านกลุ่มนักรบอีกกลุ่มที่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลให้รักษาความปลอดภัยในตริโปลีบอกว่า “จับ” ไซดานไว้ หลังจากจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ลิเบียมีบทบาทอยู่ด้วยในการจับกุม อาบู อานาส อัล-ลิบี สมาชิกสำคัญของเครือข่ายอัล-กออิดะห์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
การลักพาตัวไซดานจากโรงแรมกลางเมืองหลวงที่ได้ชื่อว่ามีความปลอดภัยสูง สะท้อนความอ่อนแอของรัฐบาลลิเบียที่แท้จริงแล้วถูกพวกกลุ่มนักรบทรงอิทธิพลครอบงำอยู่ และหลายกลุ่มเป็นพวกอิสลามิสต์เคร่งจารีตติดอาวุธซึ่งโกรธแค้นที่อเมริกาบุกจับอัล-ลิบี ผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิดสถานทูตอเมริกันในเคนยาและแทนซาเนียเมื่อปี 1998 และกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้กล่าวหาว่า รัฐบาลลิเบียรู้เห็นเป็นใจหรือเปิดไฟเขียวให้อเมริกากระทำการดังกล่าว
ความที่ตำรวจและกองทัพอยู่ในสภาพระส่ำระสาย นักรบหลายกลุ่มจึงได้รับจ้างจากหน่วยงานด้านความมั่นคงหลายแห่งของรัฐบาล แม้ว่านักรบเหล่านี้จงรักภักดีต่อผู้บัญชาการของตนมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาล และบ่อยครั้งยังขู่เข็ญและคุกคามเจ้าหน้าที่รัฐบาลก็ตาม
นักรบเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากกลุ่มคนที่ต่อสู้จนสามารถโค่นล้มผู้นำเผด็จการ มูอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่อปี 2011 จึงมักถูกเรียกขานว่า “กลุ่มปฏิวัติ”
ทั้งนี้ วันอังคารที่ผ่านมา (8) ไซดานเผยว่า รัฐบาลซีเรียขอให้วอชิงตันอนุญาตให้ครอบครัวของอัล-ลิบีติดต่อกับผู้ถูกควบคุมตัวผู้นี้ ที่ถูกทางการสหรัฐฯตั้งค่าหัวสูงถึง 5 ล้านดอลลาร์ และยืนยันว่า พลเมืองลิเบียควรได้รับการดำเนินคดีในบ้านเกิด หากถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม แต่ไม่วายสำทับว่า เหตุการณ์นี้ไม่ควรกระทบความสัมพันธ์ระหว่างกัน เนื่องจากอเมริกาให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีในช่วงการปฏิวัติโค่นล้มกัดดาฟี ซึ่งประเด็นหลังนี้เองที่ทำให้กลุ่มนักรบไม่พอใจ
ถึงแม้หลังการบุกจับอัล-ลิบี รัฐบาลลิเบียได้ออกคำแถลงทันทีว่า ไม่รู้ไม่เห็นเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ และขอให้วอชิงตันแจกแจงรายละเอียด
ทางด้าน บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ออกคำแถลงที่บรูไน ประณามการลักพาตัวไซดาน และระบุว่า เป็นสัญญาณเตือนชัดเจนสำหรับประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย พร้อมกำชับให้รัฐบาลลิเบียเจรจาควบคู่กับการเยียวยาเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการผ่องถ่ายนี้
ขณะที่ทำเนียบขาวกล่าวว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับการลักพาตัวผู้นำลิเบีย และเสริมว่า เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในตริโปลีปลอดภัยดี