xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตวิทยาศาสตร์มะกันอันตราย ผู้ชนะโนเบลชี้ขาด‘ทุนหนุนงานวิจัย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามผู้ชนะรางวัลโนเบลด้านการแพทย์เตือนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ
เอเอฟพี - สามผู้ชนะรางวัลโนเบลด้านการแพทย์เตือนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในอันตราย จากปัญหางบสนับสนุนงานวิจัยถูกตัด และความท้าทายเชิงอุดมการณ์

นักวิจัยอเมริกันเหล่านี้คว้ารางวัลโนเบลจากผลงานการค้นพบวิธีการที่เซลล์จัดระเบียบและเคลื่อนย้ายโมเลกุล ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้ร่างกายและสมองทำงานเป็นปกติ อีกทั้งยังเป็นรากเง่าของบรรดาโรคระบบประสาท เบาหวาน และภูมิคุ้มกันผิดปกติ

แม้ยินดีกับรางวัลที่ได้รับ แต่คำแถลงของผู้ชนะทั้งสามกลับสะท้อนความกังวลสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่

เจมส์ รอธแมน วัย 63 ปี จากมหาวิทยาลัยเยล หนึ่งในผู้ชนะ บอกว่า เขาตกใจมากเมื่อได้รู้ว่า การวิจัยสมัยนี้หาทุนสนับสนุนได้ยากเย็นเพียงใด ทั้งนี้เขามุ่งพาดพิงถึงการที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นไอเอช) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ถูกตัดงบประมาณ

รอธแจกแจงว่า แต่ละปีเอ็นไอเอชจะแจกทุนวิจัยราว 31,000 ล้านดอลลาร์ แต่การถูกตัดงบประมาณส่งผลให้ทุนเหล่านั้นถูกตัดลงด้วยเช่นกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากคำนวณอัตราเงินเฟ้อร่วมด้วย มูลค่าทุนสำหรับการวิจัยยิ่งลดลงไปอีก

พวกเจ้าหน้าที่เอ็นไอเอชขานรับว่า ขณะนี้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีผู้สมัครเพียง 16-17% เท่านั้นที่ได้รับทุน จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 30%

รอธแมนสำทับว่า เขากังวลเกี่ยวกับทุนสนับสนุนวิจัยดังกล่าวนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการตัดงบประมาณที่สืบเนื่องจากมาตรการลดงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลแบบเหมารวมอัตโนมัติเมื่อต้นปี หรือวิกฤตปิดหน่วยงานรัฐบาลกลางบางแห่งในขณะนี้

เขายังสงสัยว่า เขาจะสามารถสร้างผลงานได้แบบนี้หรือไม่ หากอยู่ภายใต้สถานการณ์งบประมาณตึงตัวเช่นปัจจุบัน

“เราต้องใส่ใจกับปัญหานี้ หากต้องการรักษาฐานะการเป็นผู้นำในการแข่งขันของประเทศในด้านนี้ไว้”

ทางด้าน โธมัส ซืดฮอฟ ผู้ร่วมรับโนเบลการแพทย์ วัย 57 ปี จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แสดงความกังวลที่คนจำนวนมากในยุคสมัยนี้ไม่เห็นความสำคัญของการตามล่าหาความจริง และเห็นด้วยว่า การขาดทุนสนับสนุนกำลังเป็นปัญหาร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม ซืดฮอฟ ซึ่งเกิดในเยอรมนีแต่เวลานี้เป็นพลเมืองอเมริกันแล้ว ระบุว่า ปัญหาร้ายแรงที่สุดในอเมริกา คือ การมีความคิดที่สับสนไม่สม่ำเสมอกัน โดยที่คนอเมริกันหนึ่งๆ มีทั้งส่วนที่สนับสนุนและส่วนที่ต่อต้านวิทยาศาสตร์อยู่ในตัวเองในเวลาเดียวกัน

“ผมจะถือว่ามันเป็นความก้าวหน้า ถ้าทุกคน ไม่ว่ามีอุดมการณ์อย่างไรหรือนับถือศาสนาใด เห็นด้วยกับหลักการที่ว่า ความจริงนั้นไม่ใช่ประเด็นด้านอุดมการณ์”

ส่วนผู้ชนะคนที่ 3 แรนดี้ เชคแมน วัย 64 ปี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ เล่าจุดเริ่มต้นอันยากลำบากของตัวเอง ซึ่งรวมถึงการถูกปฏิเสธทุนวิจัยก่อนหน้านี้ และยังเล่าว่า สามารถร่ำเรียนจนจบมหาวิทยาลัยได้ทั้งที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่มีลูกถึง 5 คน ด้วยการหางานทำระหว่างปิดภาคฤดูร้อน

“น่าเสียดายที่ค่าเทอมสมัยนี้แพงมากจนยากที่จะทำแบบนั้นได้อีก” เขารำพึง

รูดี้ แทนซี ศาสตราจารย์ประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำงานร่วมกับทั้งซืดฮอฟและเชคแมน สำทับว่า นักศึกษาอเมริกันเอกวิทยาศาสตร์จำนวนมากเลือกทำงานเป็นที่ปรึกษาที่มีรายได้สูงมากกว่าทำงานด้านการศึกษาวิจัย

แทนซีสำทับว่า เนื่องจากปัญหาการสนับสนุนเงินทุนของรัฐ ทำให้อเมริกากำลังเผชิญความเสี่ยงในการสูญเสียนักวิจัยอเมริกัน 1 หรือ 2 ชั่วอายุคนทีเดียว

“เหตุผลคือความมั่นคงทางอาชีพ พวกเขากลัวที่จะมุ่งสู่อนาคตที่ฝากไว้กับทุนสนับสนุนที่ไม่แน่นอน

“ด็อกเตอร์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในอเมริกาตอนนี้มาจากประเทศอื่นทั้งนั้น” เขาบอก
กำลังโหลดความคิดเห็น