เอพี – ฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน ได้แจกแจงโครงการที่เธอจะทุ่มงบ 80 ล้านดอลลาร์ เพื่อยับยั้งการล่าช้างและค้างาในแอฟริกาเมื่อวานนี้ (26 ก.ย.) โดยเตือนว่าช้างในทวีปนี้มีสิทธิ์สูญพันธุ์
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และเชลซี ลูกสาวของเธอได้ประกาศเกี่ยวกับโครงการที่มีระยะเวลา 3 ปีโครงการนี้ ในระหว่างการประชุมประจำปีที่ “คลินตันโกลบอลอินนิชิเอทีฟ” ของมูลนิธิคลินตัน โดยบอกบรรดานักเคลื่อนไหวและผู้สนับสนุนว่า การฆ่าช้างเพื่อเอางาทั่วโลกได้มาถึงจุดวิกฤตแล้ว
“ถ้ายังไม่หยุดฆ่า คาดว่าช้างป่าแอฟริกาน่าจะสูญพันธุ์ภายใน 10 ปี ดิฉันนึกไม่ออกว่าจะเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศมากมายมหาศาลขนาดไหน แต่มันจะต้องเป็นภัยพิบัติอันใหญ่หลวงของทุกคนบนโลกใบนี้ด้วย” อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ กล่าว
คลินตัน ซึ่งได้รับการจับตาว่าน่าจะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2016 และจะมีฐานะเป็นตัวเก็งคนสำคัญด้วยกล่าวว่า ถ้าหากช้างสูญพันธุ์ ก็คงจะเป็นเพราะค่านิยมที่ผิดๆ ของเราเอง
ทั้งนี้ คลินตันโกลบอลอินนิชิเอทีฟตั้งเป้าที่จะป้องกันการฆ่าช้างและแรด ตลอดจนการค้างาช้างและนอแรด นอกจากนี้ยังมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาความต้องการงาช้างในเอเชียและสหรัฐฯ
กลุ่มนักอนุรักษ์หลายกลุ่มได้ออกมารวมตัวกันเพื่อป้องกันการฆ่าช้าง เป็นต้นว่า สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) โดยพวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า การลักลอบค้างาช้างนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ เพราะบางส่วนของเงินรายได้ผิดกฎหมายเช่นนี้ถูกนำไปใช้ช่วยเหลือพวกผู้ก่อการร้ายด้วย
ผู้นำของชาติแอฟริกา 6 ชาติ ได้แก่ ยูกันดา บูร์กินาฟาโซ กาบอง มาลาวี ไอเวอรีโคสต์ และแทนซาเนีย ซึ่งเข้าร่วมในงานนี้พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตัวแทนชาติแอฟริกาอื่นๆ ต่างให้สัญญาว่าจะร่วมมือกันในภารกิจนี้
ประธานาธิบดี โยเวรี มูเซเวนี แห่งยูกันดา กล่าวว่า ชาติแอฟริกาจะสนับสนุนการระงับการนำเข้า ส่งออก ตลอดจนการขายงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง จนกว่าประชากรช้างจะไม่ตกอยู่ในภาวะอันตรายอีก
“ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลกจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดจัดการกับมหันตภัยนี้” อาลี บองโก อองดิมบา ประธานาธิบดีกาบองกระตุ้นเตือน
คลินตันได้ต่อสู้ปกป้องสัตว์ป่าขณะอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ กลุ่มนักอนุรักษ์สัตว์ป่าประมาณการว่ามีช้าง 35,000 ตัว ถูกฆ่าอย่างผิดกฎหมายในแอฟริกาเมื่อปี 2012
โครงการนี้จะสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นต้นว่า การจ้างเจ้าหน้าที่อุทยานเพิ่ม 3,100 คน เพื่อคอยจับตาดูขบวนการล่าช้าง การเพิ่มบทลงโทษขบวนการล่าช้างให้รุนแรงยิ่งขึ้น และใช้ทีมสุนัขดมกลิ่นประจำตามจุดผ่านเข้าออก
“ปัญหาใหญ่ก็คือ กำไรที่ได้จากการล่าช้างและค้างานั้นสูงมาก ทำให้นักล่าพวกนี้มองว่าคุ้มที่จะเสี่ยง” เจน กูดดอล นักวิจัยชิมแพนซี กล่าวพร้อมกับระบุว่าพวกล่าสัตว์ป่ามักจะได้รับโทษจำคุกเพียงไม่นาน แม้ถูกจับกุม