xs
xsm
sm
md
lg

เด็ดขาด! ฟิลิปปินส์ขน “งาช้าง” ผิดกฎหมาย “ทำลายทิ้ง” เป็นชาติแรกในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ใช้รถแบคโฮและรถบดถนนทำลายงาช้างน้ำหนักรวม 5 ตัน ที่ลานจอดรถของสำนักงานพื้นที่และสัตว์ป่าสงวน (PAWB) กรุงมะนิลา วันนี้(21)
เอเอฟพี - ฟิลิปปินส์เริ่มดำเนินการทำลาย “งาช้าง” น้ำหนักรวม 5 ตันในวันนี้(21) เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะขจัดภาพลบของประเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งค้างาช้างผิดกฎหมายใหญ่ที่สุดของโลก

สำนักงานพื้นที่และสัตว์ป่าสงวนฟิลิปปินส์ (PAWB) นำรถแบคโฮมาบดทำลายงาช้างบริเวณลานจอดรถ ซึ่งทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ตัดสินใจทำลายสินค้าจากป่าซึ่งมีมูลค่านับล้านๆดอลลาร์สหรัฐฯ

“ปฏิบัติการในวันนี้ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนให้ประชาคมโลกทราบว่า ฟิลิปปินส์จะไม่อดทนกับขบวนการค้าสัตว์ป่าโดยผิดกฎหมายอีกต่อไป” รามอน พาเฮ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม แถลง

งาช้างจำนวน 5 ตันที่ถูกทำลายวันนี้(21) เป็นเพียงบางส่วนจากทั้งหมด 13 ตันที่ศุลกากรยึดไว้ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 โดยส่วนหนึ่งได้จากการจับกุมล็อตใหญ่ 2 ครั้งที่ท่าเรือและสนามบินนานาชาติกรุงมะนิลา เมื่อปี 2005 และ 2009

งาช้างส่วนที่เหลือซึ่งจะมีราคาซื้อขายนับล้านดอลลาร์สหรัฐฯในตลาดมืด ถูกมือดีลักลอบขโมยออกไปตลอดช่วงหลายปีมานี้ โดยงาช้างที่หายไปส่วนใหญ่ถูกเก็บอยู่ในสำนักงานศุลกากรฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่มีการคอรัปชันสูง ขณะที่เจ้าหน้าที่ PAWB คนหนึ่งก็ถูกกล่าวหาว่าขโมยงาช้างน้ำหนัก 700 กิโลกรัมออกไปจากโกดัง และทุกวันนี้ก็ยังคงหลบหนีลอยนวล

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ประกาศให้ฟิลิปปินส์เป็น 1 ใน 8 ประเทศที่ล้มเหลวในการป้องกันการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย ส่วนอีก 7 ประเทศ ได้แก่ เคนยา, แทนซาเนีย, ยูกันดา, มาเลเซีย, เวียดนาม, จีน และไทย

ประเทศเหล่านี้ได้รับคำเตือนว่า อาจถูกนานาชาติคว่ำบาตรหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และนักอนุรักษ์ เตือนว่า ความต้องการงาช้างคือสาเหตุหลักที่ทำให้ช้างแอฟริกันถูกล่าหลายพันเชือกในแต่ละปี และท้ายที่สุดพวกมันอาจสูญพันธุ์

ผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าใช้ฟิลิปปินส์เป็นชุมทางขนส่งงาช้างที่จะนำไปขายต่อในจีน, เวียดนาม และไทย ซึ่งงาช้างกำลังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง 2-3 ปีมานี้


กำลังโหลดความคิดเห็น